โฟกัสชัดๆ ทำไมต้องจับตาทีมศก.ใหม่รัฐบาล  “ประสางา-ไม่ประสานงาน”  เจอหนักแน่แรงกระเพื่อมการเมือง!???

ชัดเจนแล้วสำหรับหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่หลายคนบอกว่า งานนี้มีหลายจุดสุ่มเสี่ยง และต้องทำงานหนักหลายเท่าเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ชัดเจนแล้วสำหรับหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่   ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ที่หลายคนบอกว่า  งานนี้มีหลายจุดสุ่มเสี่ยง และต้องทำงานหนักหลายเท่าเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ  เรื่องปากท้องประชาชน  ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก  และตัวเลขหลายอย่างก็สะท้อนความไม่ปกติ  จากหลายปัจจัยกระทบจากภายนอก  แต่ที่ผ่านมาถูกกระแสการเมือง โน้มน้าวให้เข้าใจผิด  ว่าเป็นเพราะสถานะรัฐบาล คสช. ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

แต่แท้จริงแล้ว  ธนาคารแห่งประเทศไทย  สรุปมาให้มี 3-4 ประเด็นหลักๆ สำคัญ  คือ

1.เรื่องของมาตรการกีดกันทางค้าที่ดูเหมือนว่าจะยังคงรุนแรงต่อไป  โดยเฉพาะกับสหรัฐและจีน   จนถึงขั้นทำให้ปริมาณการค้าโลก มีอัตราชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้  จนส่งผลกระทบถึงปริมาณการส่งออกของไทยตามไปด้วย

2.ปัญหาจากการที่อังกฤษจะลาออกจากสหภาพยุโรป โดยไม่มีข้อตกลง หรือ No-deal Brexit   ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่จบ  และนางเทเรซา เมย์  นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงขั้นประกาศลาออกจากตำแหน่ง

และ 3. แนวโน้มความเชื่อมั่นจากตัวนักลงทุนที่มีการปรับตัวลดลง ด้วยภาวะข่าวเชิงลบทั้งหลาย  จากการเปิดศึกตอบโต้กันไปมา เรื่องการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน  อย่างเช่นการที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน โดยอ้างเรื่องเหตุผลด้านความมั่นคง

ตัดกลับมาดูภาพประเทศไทย กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่  ที่ต้องเผชิญกับทุกความยากลำบาก ชัดเจนแล้วว่าทีมครม.เศรษกิจ ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองเดียว  เหมือนยุคคสช.ที่ผ่านมา

ประเด็นนี้หลายคนตั้งคำถาม  ว่า  พล.อ.ประยุทธ์   ในฐานนายกรัฐมนตรีจะสามารถรวมทุกความคิด และวิธีปฏิบัติให้เป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่  

เริ่มจาก  รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ   คนเดิมอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์   โดยการคัดเลือกตรง จาก พล.อ.ประยุทธ์   แต่อีกนัยหนึ่งก็มีรากฐานมาจากพรรคพลังประชารัฐ

ต่อมาคือ ดร.อุตตม  สาวนายน   รมว.คลัง  จากพรรคพลังประชารัฐ 

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม  จากพรรคพลังประชารัฐ

นายสนธิรัตน์   สนธิจิรวงศ์   รมว.พลังงาน  จากพรรคประชารัฐ

ขณะที่อีกฟากหนึ่งในทีมครม.เศรษฐกิจ ต้องจัดสรรให้กับพรรคประชาธิปัตย์  กับ  ภูมิใจไทย

ประกอบด้วย  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรี  ควบ รมว.พาณิชย์ 

นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน   รมว.เกษตรและสหกรณ์  จากพรรคประชาธิปัตย์ 

และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย

 

โดยมี ม.ร.ว.จัตุมงคล  โสณกุล    อดีตผู้ว่าฯธปท . จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย  นั่งเก้าอี้ รมว.แรงงาน

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องไม่ลืมว่า ขนาดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ที่มีความเบ็ดเสร็จ ในการบริหารจัดการภาวะเศรษฐกิจ  ถึงแม้จะมีหลายผลงานประจักษ์ แต่ก็เหนื่อยสาหัสไม่น้อย

เทียบวัดจากช่วงแรกที่คสช.เข้าบริหารประเทศ   ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนธันวาคม  2557  พบว่า  ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม  พุ่งสูงอยู่ในระดับ  70.5    ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ ก็สูงอยู่ในระดับ 74.5  เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต  มีระดับอยู่ที่ 98.3   ซึ่งถือว่าสูงมาก

แต่พอระยะเวลาผ่านไป 5  ปี  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  ต้องบอกว่าคนละเรื่องเลย  โดยข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เดือน มิถุนายน  2562  ที่ผ่านมา  พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงเหลือแค่  63.4   ส่วนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน  ปรับลดลงมาอยู่ที่ 72.2  เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตก็ลดลงเหลือ 93.5  เช่นกัน

ถามว่าเป็นเพราะคนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ก็ไม่ใช่แบบที่นักการเมืองฝ่ายค้านเอาไปดิสเครดิตทั้งหมด

แต่หลัก ๆ เลยก็คือ  สถานการณ์การเมืองของประเทศ  ที่ถือเป็นปัจจัยกดดันความรู้สึกผู้คน ว่าจะเป็นในทิศทางไหน   แม้ว่าวันนี้ภาพหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะออกมาให้เห็นแล้วก็ตาม เนื่องโดยเฉพาะเรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่  ที่น่ากังวลมากสุด  และยิ่งครม.เศรษฐกิจ  มาจากต่างขั้วต่างค่าย ก็เลยทำให้ต้องจับตากันต่อไป ว่าจะประสานงานกันได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ผลงานของครม.เศรษฐกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ  ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ  เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจวันนี้มีหลายโรครุมเร้า  ทั้ง ความกังวลเรื่องปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน  ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 

และมีทิศทางจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวลดลง  ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

ไม่เท่านั้นการส่งออกของไทยในเดือน พฤษภาคม 2562  ก็ลดลงร้อยละ 5.79  โดยมีมูลค่ารวม  21,017.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 20,836.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลงร้อยละ 0.64  ส่งให้ดุลการค้าเกินดุล  181.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   รวม 5 เดือนแรกของปี 2562  ดุลการค้าของประเทศไทย  เกินดุลไปแล้ว 731.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไม่เท่านั้น อีก 2-3 ปัจจัยสำคัญ  และต้องถือว่าสำคัญมาก ซึ่งถ้ารัฐบาลชุดใหม่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้  เชื่อแน่ว่าจะมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองลูกใหญ่แน่

จุดแรก ก็คือ  ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ   ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในนระดับต่ำ  และมีผลทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

นอกจากนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เอง ก็มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว  รวมยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง  ไม่เท่านั้นผู้บริโภคก็ยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ท้ายสุดผู้บริโภค หรือ ประชาชาชนทั่วไป   เองก็มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ

 

 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐบาลใหม่ และครม.เศรษฐกิจใหม่ ต้องเผชิญ  และเร่งเรีบแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด  เพราะถ้ายิ่งช้ามากเท่าไร ก็หมายถึงว่าจุดอ่อนของรัฐบาลก็จะยิ่งมีรอยแผลมากขึ้นเท่านั้น