- 30 ธ.ค. 2564
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มุ่งวางรากฐานการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค ช่วงชิงความได้เปรียบจากการเป็นส่วนหนึ่งของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) พันธมิตรทางธุรกิจที่มีเครือข่ายแข็งแกร่งในกว่า 50 ประเทศ
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กรุงศรีเดินหน้าขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตในอาเซียน (GO ASEAN with krungsri) อยู่ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ที่กรุงศรีต้องการวางรากฐานการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคให้แข็งแกร่ง พร้อมวางเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศอยู่ที่ 10% ของกำไรสุทธิทั้งหมดภายในปี 2566 โดยจะมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญของกรุงศรี ควบคู่กับความเชี่ยวชาญจากพันธมิตร พาผู้ประกอบการไทยไปเติบโตในต่างประเทศ และสามารถดำเนินธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศนั้น ๆ ได้
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงศรีมุ่ง “ปักธงรบ” ในตลาดอาเซียน เกิดจากความมั่นใจในจุดแข็งและข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน นั่นคือการมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) อย่าง มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ดำเนินธุรกิจมากว่า 360 ปี มีเครือข่ายแข็งแกร่งในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งสำนักงานกว่า 2,500 แห่ง และอีกกว่า 20 แห่ง ครอบคลุม 7 ประเทศในอาเซียน
ด้วยบทบาทธนาคารพันธมิตร (Partner Banks) ระหว่าง MUFG กับกรุงศรี ส่งผลให้ธนาคารมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค โดยกรุงศรีมีเครือข่ายที่ให้บริการครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน ในรูปแบบสาขา สำนักงานผู้แทน ธนาคารท้องถิ่น ผู้ให้บริการทางการเงินท้องถิ่น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย สาขาของธนาคารในเวียงจันทน์ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับเงินฝาก กรุงศรี จำกัด ใน สปป.ลาว ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชา ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ และสำนักงานตัวแทนในเมียนมา
อีกทั้งกรุงศรียังได้ร่วมทุนกับ Saigon-Hanoi Commercial Joint Stock Bank (“SHB”) ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศเวียดนาม ในการซื้อและรับโอนเงินทุนก่อตั้ง (Charter Capital) 100% ของบริษัท SHBank Finance Company Limited (“SHB Finance”) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อย 10 อันดับแรกของประเทศเวียดนามอีกด้วย
ไม่ใช่เพียงสาขาและเครือข่ายธุรกิจของกรุงศรีที่มีอยู่ 5 ประเทศในอาเซียนเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้โอกาสจากเครือข่ายที่ครอบคลุมเกือบทุกประเทศในอาเซียนของ MUFG ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับ Bank Danamon ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ ได้อีกด้วย“บทบาทของ MUFG เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งเดียวที่มีเครือข่ายในอาเซียนมากที่สุด และการเป็นธนาคารพันธมิตรกับ MUFG ยังทำให้กรุงศรีสามารถใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ระดับโลก เพื่อนำไปตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของลูกค้าทั้งในประเทศไทย นำพาโอกาสใหม่ๆในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตให้กับลูกค้าของกรุงศรีในภูมิภาคอาเซียน และในระดับโลกได้เป็นอย่างดี” นายไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ กรุงศรีมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศผ่านโซลูชั่นทางการเงินอันหลากหลาย ทั้งการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่น ตลอดจนการเชื่อมต่อโครงข่ายธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นพันธมิตรที่ให้บริการข้อมูล ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแบบครบวงจร พร้อมพัฒนาระบบธุรกรรมการชำระเงินรองรับความต้องการของลูกค้ารายย่อยในยุคดิจิทัล
ที่ผ่านมา กรุงศรีสามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินที่มีศักยภาพ และเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี อาทิ การให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ซื้อเพื่อผู้ขายรายย่อย (Payable Finance) ให้กับบริษัทไทยที่ขยายธุรกิจไปในเวียดนาม และให้บริการสินเชื่อเพื่อการรับซื้อลูกหนี้การค้าที่มีประกันคุ้มครอง (Cross border ARPS) ให้กับบริษัทไทยที่ขยายธุรกิจไปสิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนั้นสิ่งที่สามารถสะท้อนความเชี่ยวชาญของกรุงศรีในตลาดอาเซียนได้เป็นอย่างดี ก็คือ การเปิดโอกาสให้มีการพบปะเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและอาเซียนผ่านเครือข่ายและบริการจับคู่ธุรกิจ (business matching) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่โดดเด่นของกรุงศรีที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยมี “Krungsri-MUFG Business Matching” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สร้างพื้นที่เชื่อมโยงทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจทั่วโลก ก่อเกิดมูลค่าทางการตลาดมหาศาล และธุรกิจที่เข้าร่วมงานขยายกว้างมากขึ้น ครอบคลุมไปยังประเทศในอาเซียน
หรือแม้กระทั่ง ล่าสุดกับ “Krungsri Virtual Business Matching” การจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ได้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่าง นักธุรกิจไทย-นักธุรกิจอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา เวียดนาม และลาว ที่สนใจนำเข้าสินค้าไทยไปขายในประเทศตนเองมากกว่า 230 คู่ และประสบความสำเร็จทำการค้าร่วมกัน ยกตัวอย่าง ธุรกิจ SME ของไทยสามารถส่งสินค้าไปขายในกัมพูชา หรือในกรณี Online Business Matching กับ Thaitown Supermarket ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะสินค้าไทยในเมียนมา โดยมีผู้ขายฝั่งไทยสมัครเข้าร่วมกิจกรรมถึง 76 บริษัท เป็นต้น
“กรุงศรีไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แต่ยังคงมองหาแนวทางที่จะขยายธุรกิจสู่อาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหัวใจสำคัญในการเป็น “พันธมิตรทางธุรกิจ” ทั้งความร่วมมือกับ MUFG ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในตลาดต่างประเทศ และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการวางตำแหน่งเป็นพันธมิตรกับลูกค้า พร้อมที่จะพาทุกคนไปเติบโตอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้และทั่วโลกให้ได้” นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย