- 29 ธ.ค. 2566
เช็กเลย เงื่อนไขเกณฑ์ใช้สิทธิ Easy e-Receipt ซื้อของไปลดหย่อนภาษี ประจำปี 2567 สูงสุด 50,000 บาท เริ่ม 1 ม.ค – 15 ก.พ. 67
วันที่ 29 ธ.ค.66 อัปเดต เกณฑ์การใช้สิทธิ Easy e-Receipt โครงการช็อปปิ้งที่สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้มากถึง 50,000 บาท เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา โดยทางเพจได้ระบุเอาไว้ ดังนี้
“กรมสรรพากร เปิดรายละเอียดมาตรการ ‘Easy e-Receipt’ กระตุ้นการบริโภคช่วงต้นปี 2567 สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา ที่ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 67 มาใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ได้ไม่เกิน 50,000 บาท
สำหรับสินค้าและบริการที่ร่วมมาตรการ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศ โดยสินค้าที่ไม่เข้าร่วม คือ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น
ขณะเดียวกันเพื่อให้ได้รับสิทธิมาตรการดังกล่าว จะต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ซึ่งผู้ซื้อสินค้าสามารถสังเกตร้านค้าทีมีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 4,000 ราย ครอบคลุม 116,000 จุดจำหน่ายทั่วประเทศ”
สรุปเงื่อนไขใช้สิทธิ Easy e-Receipt
- ต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- เริ่ม 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ซื้อสินค้า หรือบริการ จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ทั้งในรูปแบบปกติและ E-book รวมถึงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
- ผู้ที่ใช้สิทธิได้ ต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-TAX invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้
- สุรา เบียร์ ไวน์
- ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- สาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า บริการสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต
- เบี้ยประกันวินาศภัย