ค้นพบฟอสซิล "ไข่เต่ายักษ์" มาพร้อมตัวอ่อน อายุกว่า 100 ล้านปี

มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ค้นพบซากฟอสซิล "ไข่ของเต่ายักษ์" ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สูญพันธุ์แล้ว ซึ่งยังคงมีเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนอยู่ข้างใน

รายงานระบุว่าซากฟอสซิลดังกล่าวมาจากยุคครีเทเชียส (Cretaceous) มีอายุเก่าแก่ราว 100 ล้านปี และถือเป็นไข่ที่มีตัวอ่อนหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์แบบ

หานเฟิ่งลู่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (อู่ฮั่น) ซึ่งค้นพบไข่โบราณนี้ครั้งแรกระหว่างทัศนศึกษาในเหอหนานเมื่อปี 2018 ระบุว่าการเชื่อมโยงซากฟอสซิลไข่เต่าเข้ากับสายพันธุ์เฉพาะเจาะจงได้สำเร็จเป็นเรื่องหายาก

 

ค้นพบฟอสซิล ไข่เต่ายักษ์

 

ลาซาด้า

 

ทีมนักวิจัยอาศัยการสร้างภาพ 3 มิติ ควบคู่กับการสแกนระดับไมโครเมตรที่มีความแม่นยำสูง ยืนยันว่าไข่เปลือกหนาผิดปกติและมีขนาดใหญ่นี้มาจากกลุ่มเต่าบกขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์แล้ว (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Nanhsiungchelyidae)

เปลือกไข่นั้นหนาเกือบ 2 มิลลิเมตร ถือเป็นหนึ่งในไข่เต่ามหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic) ที่มีเปลือกหนาที่สุดและขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยค้นพบ

คณะนักวิจัยยังคงเดินหน้าสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่เปลือกไข่หนาเช่นนี้ แต่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นชี้ว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสุดขั้วผิดปกติในช่วงเวลานั้น

 

ค้นพบฟอสซิล ไข่เต่ายักษ์

 

“เราพบโครงสร้างที่ดูเหมือนกระดูกในส่วนเปลือกไข่ที่แตกร้าว” หานกล่าว “มันดูเหมือนลูกเต่ากำลังใกล้จะฟักออกจากไข่” พร้อมเสริมว่าแม่เต่าที่วางไข่ใบนี้อาจมีลำตัวยาวถึง 1.6 เมตร

ทั้งนี้ เต่ามีต้นกำเนิดในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย และค่อยๆ วิวัฒนาการจนกลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานตลอดระยะเวลามากกว่า 200 ล้านปี

ผลการวิจัยซากฟอสซิลไข่นี้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วารสารราชสมาคมกรุงลอนดอน ฉบับบี ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences)

 

ค้นพบฟอสซิล ไข่เต่ายักษ์

 

ที่มา xinhuathai

 

ลาซาด้า