- 28 ม.ค. 2562
จากกรณีปรากฏการเผยแพร่ข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า รัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างมัสยิด และมัสยิดกลางประจำจังหวัดจำนวนหลายแห่ง
จากกรณีปรากฏการเผยแพร่ข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า รัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างมัสยิด และมัสยิดกลางประจำจังหวัดจำนวนหลายแห่ง ตลอดจนตั้งเงินเดือนโต๊ะอิหม่าม เดือนละ 18,000 บาท และคณะกรรมการประจำมัสยิดมีเงินเดือนทุกคน จนนำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ล่าสุด 28 ม.ค. 2562 กรมการปกครองได้ออกแถลงระบุว่าขอเรียนว่าข่าวสารดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องเท็จและเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อโปรดทราบ ดังนี้
1. มัสยิดกลางประจำจังหวัดที่กล่าวอ้างถึงในสื่อสังคมออนไลน์ข้างต้น มีข้อเท็จจริง ดังนี้
1.1 มัสยิดกลางประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จะก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 104 ล้านบาทเศษ แต่เป็นโครงการที่ผูกพันมาจากการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น (พ.ศ.2555) ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน (อ่าวไทย) โดยเป็นงบผูกพัน 3 ปี พ.ศ.2557-2559 ซึ่งมอบหมายให้กรมการปกครองเป็นหน่วยขอรับงบประมาณและโอนจัดสรรให้แก่ จ.นครศรีธรรมราช มิได้เป็นการอนุมัติของ ครม.ชุดปัจจุบันแต่อย่างใด
1.2 มัสยิดกลางประจำจังหวัดนนทบุรี เป็นการก่อสร้างอาคารศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามจังหวัดนนทบุรี ซึ่งก่อสร้างด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี จำนวน 85 ล้านบาท มิได้เกิดจากการอนุมัติของ ครม.ชุดปัจจุบัน
1.3 มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา เป็นมัสยิดกลางที่มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว บางแห่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2424 พ.ศ.2468 และ พ.ศ.2497 โดยเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างก็มาจากเงินบริจาคของประชาชนในพื้นที่ แต่อาจมีการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในขณะนั้นบ้าง ตามนโยบายด้านความมั่นคง มิใช่การก่อสร้างขึ้นใหม่แต่อย่างใด ซึ่งรัฐบาลในยุคต่อๆ มา ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการบูรณะและต่อเติมให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยต่อชาวไทยมุสลิมที่มาประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งใช้งบประมาณจำนวน 22 ล้านบาทบ้าง 28 ล้านบาทบ้าง สูงสุดประมาณ 35 ล้านบาทเท่านั้น
1.4 มัสยิดกลางประจำจังหวัดภูเก็ต มีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามจังหวัดภูเก็ตและศูนย์พัฒนาอาหารฮาลาล ไม่ใช่อาคารมัสยิดกลางประจำจังหวัด ก่อสร้างโดยงบประมาณขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต และเงินบริจาคของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 250 ล้านบาทเศษ
1.5 สำหรับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดบึงกาฬ ยังไม่มีมัสยิดกลาง จะมีเฉพาะมัสยิดทั่วๆ ไป ซึ่งมาจากเงินบริจาคของประชาชนเท่านั้น
2. เนื่องจากผู้นำศาสนาอิสลามมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ในการดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิมในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดทำทะเบียนสัปปุรุษ การสอนหลักธรรมศาสนาให้สัปปุรุษ การออกหนังสือรับรองการสมรสตามหลักศาสนา การจัดกิจกรรมทางศาสนา และการประนีประนอมข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักศาสนา
ดังนั้น รัฐจึงได้กำหนดให้ผู้นำทางศาสนาบางตำแหน่งได้รับเงินค่าตอบแทนมาตั้งแต่ พ.ศ.2539 ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจโดยปัจจุบัน
2.1 อิหม่าม ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 1,200 บาท
2.2 คอเต็บ และบิหลั่น เดือนละ 1,000 บาท
2.3 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,900, 2,700 หรือ 3,500 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนมัสยิดในแต่ละจังหวัด
2.4 กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด
2.5 นอกจากนี้ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้รับค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 1,100 บาท ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 อีกด้วย
3.ดังนั้น ข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ในกรณีดังกล่าว จึงเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวย้งเป็นการนำเข้าข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วย