- 01 ก.พ. 2562
เมื่อ ครม.ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กรณีการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกผู้ประกอบการ จากระบบสัมปทานเป็นการคัดเลือกตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือเท่ากับเป็นการสิ้นยุคระบบสัมปทานดาวเทืยม ที่เคยทำให้นักธุรกิจการเมืองอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" ร่ำรวยมหาศาลมาแล้ว
เป็นหนึ่งประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นแล้วสร้างความสนใจได้ไม่น้อย เมื่อ ครม.ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กรณีการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกผู้ประกอบการ จากระบบสัมปทานเป็นการคัดเลือกตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือเท่ากับเป็นการสิ้นยุคระบบสัมปทานดาวเทืยม ที่เคยทำให้นักธุรกิจการเมืองอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" ร่ำรวยมหาศาลมาแล้ว
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว ทางด้านนายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รายละเอียดว่า มติครม.พิจารณาเห็นควรให้เปลี่ยนการคัดเลือกผู้ประกอบการดาวเทียม ภายใต้สัญญาดำเนินการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวง จากระบบระบบสัมปทานระยะยาวมาเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (พีพีพี) ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์
หลังจากคำนึงถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ กับรูปแบบอื่น ๆ ทั้งการจำหน่ายดาวเทียมให้เอกชน หรือ รัฐบาลดำเนินการเอง หรือ โอนทรัพย์สินให้บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด เพื่อนำทรัพย์สินออกให้เช่าในฐานะผู้ประกอบการ (Operator)
ประเด็นสำคัญ คือ ที่ประชุมครม.ยังเห็นควรให้ดาวเทียม ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวง ที่มีอายุทางวิศกรรมของดาวเทียมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ตามแนวทางของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยแนวทางที่ได้รับอนุมัติในครั้งนี้ต้องเข้าสู่ระบบพีพีพี โดยไม่มีการต่อสัญญาหรือให้สัมปทานเหมือนที่ผ่านมาในอดีตอีกต่อไป
ยกเว้นกรณีของ บริษัทไทยคม ครม.เห็นชอบให้ขยายดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อน ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่่งจะหมดอายุการใช้งานในช่วงเครึ่งปีแรกของปี 2563 ไปสิ้นสุดในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ครม.ยังรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศในเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียม THEIA การดำเนินการเพื่อจัดตั้งสำนักงานประสานงานภูมิภาค (Regional Liaison Office – RLO) ของสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทย
และความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS – 2) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มีมติรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ตามขั้นตอนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
สรุปใจความคือหลังจากนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดระบบดาวเทียมแบบสัมปทานที่เคยเป็นมาในอดีต ในขณะที่เมื่อพูดถึงธุรกิจดาวเทียม ชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร ย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีการนำไปเกี่ยวโยง และครั้งหนึ่ง ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้เคยโพสต์ถึงประเด็นนี้ไว้เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2556 หัวข้อ "ทักษิณโกงเหนือเมฆ" สืบเนื่องจากการที่
ปปช. มีมติชี้มูลความผิด นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กรณีบุคคลดังกล่าว อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ
มีสาระสำคัญบางส่วน ระบุว่ามติของปปช. แสดงให้เห็นกระบวนการทุจริต อาศัยอำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาชี้ขาดถึงที่สุด คดีร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบให้ตกเป็นของแผ่นดิน มูลค่ากว่า 46,373 ล้านบาท และข้อคิดสำคัญจากกรณีดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
ทักษิณ ชินวัตร
1) ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจสัมปทานดาวเทียมและกิจการโทรคมนาคม เข้ามาเล่นการเมืองโดยหลบเลี่ยงกฎหมาย ซุกหุ้นไว้ในชื่อผู้อื่น เมื่อมีอำนาจเป็นนายกฯ ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) และอาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่หุ้นชินคอร์ปของตนเอง
2) ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของบริษัทชินฯ ได้ทำสัญญากิจการดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ในยุครัฐบาลเผด็จการ รสช. หลังจากนั้น เมื่อได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณถึงกับเลือก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เข้ามาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดูแลสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียมและโทรคมนาคม ก่อนจะมีการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ก่อนนั้น สังคมยังสงสัยว่า เหตุใดจึงเลือกหมอเลี๊ยบ ซึ่งไม่น่าจะเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมโทรคมนาคม แต่เป็นคนที่ทักษิณและคุณหญิงพจมานไว้ใจอย่างยิ่ง
3) ความพยายามที่จะแก้สัญญาดาวเทียมดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของนายกฯ ทักษิณ (ในขณะนั้น) ได้มีการกระทำอย่างเป็นขบวนการ อุกอาจ อาศัยเจ้าหน้าที่ในกลไกของรัฐ ไล่ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีลงไปจนถึงข้าราชการในกระทรวงไอซีที แม้แต่หน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หน่วยงานในกระทรวงไอซีที แม้จะรู้หรือควรรู้ว่าการแก้สัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณ ซึ่งไม่น่าจะกระทำได้ แต่ก็ไม่ดำเนินการยับยั้งหรือทัดทานอย่างเด็ดขาด กลับชี้ช่องหลบเลี่ยงกฎหมายเสียอีก โดยความจริงทั้งหลายได้ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ คดีร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน
4) ในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ คดีร่ำรวยผิดปกติ หน้า 147-148 ระบุชัดเจนว่า บริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ถือเป็น “ตัวการ” โดยชินคอร์ปเชิดให้บริษัทไทยคมเป็นตัวแทนในการขอแก้ไขสัญญา
ขณะที่ช่วงที่บริษัทไทยคมร้องขอแก้ไขสัญญา เดือนธันวาคม 2546 นั้น ขณะนั้น กิจการดาวเทียมของชินคอร์ปยังไม่อู้ฟู่ สถานะทางการเงินยังลูกผีลูกคน บริษัทของทักษิณจึงได้อ้างเหตุผลว่าต้องใช้เงินลงทุนในโครงการไอพีสตาร์เป็นจำนวนสูงมาก ต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน จึงจำเป็นต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาเดิมลง
เมื่อหน่วยงานรัฐยอมให้แก้ไข จึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดาวเทียมของทักษิณอย่างชัดเจน เพราะเมื่อขยายการลงทุน บริษัทของทักษิณก็ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายอื่นๆ ประหยัดเงินลงทุนเพิ่มไปเกือบ 1,300 ล้านบาท แถมได้เงินจากการขายหุ้นออกไปอีกด้วย
5) บทบาทเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น มีความพยายามจะแก้ไขข้อสัญญาในสาระสำคัญเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดาวเทียมของทักษิณนั้น ปรากฏพฤติการณ์อย่างประเจิดประเจ้อ อยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดียึดทรัพย์ หน้า 149-150 หลังจากอัยการสูงสุด(ในขณะนั้น)มีความเห็นว่า “เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันเป็นที่มาของการอนุมัติโครงการนี้โดยคณะรัฐมนตรี จึงควรที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนลงนามในการแก้ไขสัญญา” กระทรวงไอซีทีได้ส่งเรื่องไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตีเรื่องกลับ กระโดดหนี
“...บันทึกถ้อยคำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นที่ให้ไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ว่า ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยจำได้ว่ามีการทำบันทึกเสนอจากเจ้าหน้าที่ แต่ตนเองเห็นว่าไม่สมควรเนื่องจากสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่ทำกันขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 นายกรัฐมนตรีเป็นคู่สัญญากับรัฐ ประกอบกับบันทึกเสนอเรื่องไม่ชัดเจนว่าขออนุมัติอะไร จึงไม่มีการลงนามในบันทึกที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาให้และให้ถอนเรื่องคืนไป และว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่เคยมาชี้แจงด้วยวาจา และตนเห็นว่าสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีนายกรัฐมนตรีเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงไม่เหมาะสมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อรัฐมนตรีโทรศัพท์มาตามเรื่องก็ได้อธิบายเหตุผลให้ฟัง...”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
หลังจากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการไอซีทีในขณะนั้น จึงได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานเอง โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547
6) บทบาทของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีไอซีทีขณะนั้น เมื่อไม่สามารถเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพราะติดที่นายกฯ ทักษิณเป็นคู่สัมปทานกับรัฐ แทนที่จะยุติเรื่อง รัฐมนตรีไอซีทีกลับทำการอันอาจเสมือนหนึ่ง “ตัวแทน” หรือถูกเชิด รับใช้หรือลงนามแก้ไขสัญญาเพื่อให้เจ้าของบริษัทชินคอร์ปได้รับผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็น “ตัวการ”
ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดียึดทรัพย์ หน้า 150-152 ระบุว่า “การแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นั้น ไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด เห็นว่า การที่มีการกำหนดเรื่องการถือครองหุ้นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในข้อ 4 ของสัญญาสัมปทานนั้น เป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหา(ทักษิณ)ได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนข้างต้น
โดยนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ โดยที่ไม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปผู้รับสัมปทาน เนื่องจากในกรณีที่บริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่จะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 16,543,800,000 บาท
บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคม จึงไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 บริษัทไทยคมได้ทำการเพิ่มทุน แต่บริษัทชินคอร์ปไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 84,706,801 หุ้น เป็นเงิน 1,296,014,055 บาท แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงประมาณร้อยละ 11 ดังกล่าวย่อมเป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวออกไปให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นด้วย
ทั้งการลดสัดส่วนดังกล่าวมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัทไทยคมซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน แม้ว่าบริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมจะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคม จึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร...”
7) นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในขณะนั้่น ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
อีกทั้ง นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และนายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ในฐานะที่ได้เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว ก็ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดด้วย
การกระทำข้างต้น ย่อมไม่อาจกระทำได้โดยปราศจากการรู้เห็น ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือละเลยต่อหน้าที่ของข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะในกระทรวงไอซีที
แม้ว่ากรณีนี้ ผู้ได้ผลประโยชน์ คือ เจ้าของหุ้นชินคอร์ป แต่ข้าราชการและนักการเมืองที่ถูกเชิดใช้ ยอมทำตัวเป็นม้าใช้ ช่วยโกง ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ “ตัวการใหญ่” ก็ต้องรับกรรมไปด้วย แถมคนเป็นข้าราชการยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จะต้องถูกให้ออกจากราชการ บำเหน็จบำนาญและเกียรติยศชื่อเสียงเสียหายป่นปี้ ถือเป็นอุทาหรณ์แก่ข้าราชการในปัจจุบัน
8) ข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันนี้ ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาชี้ขาดไปแล้ว ในคดีร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร การพิจารณาชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.จึงไม่เกินความคาดหมาย
9) บทเรียนจากกรณีนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อนักธุรกิจสัมปทานอย่างทักษิณเข้ามาเล่นการเมือง ยึดครองอำนาจรัฐ หลบเลี่ยงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มีผลประโยชน์ทับซ้อน อาศัยกลไกราชการเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง โดยใช้นักการเมืองขี้ข้า และข้าราชการที่สมยอมรับใช้ สร้างความร่ำรวยให้แก่ธุรกิจของตนเอง เมื่อยึดกุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ กระบวนการยุติธรรมถูกตัดตอน กลไกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเป็นอัมพาต ทักษิณก็สามารถใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ตนเองได้อีกมากมายหลายกรณี เช่น กรณีไอพีสตาร์ไม่ใช่เป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ไม่เป็นไปตามสัญญา ดำเนินการโดยไม่เปิดประมูล, กรณีเงินประกันดาวเทียมกว่า 6 ล้านดอลลาร์ นำไปเช่าช่องสัญญาณจากดาวทียมดวงอื่น โดยไม่ส่งคืนกลับไอซีที, กรณีแปลงส่วนแบ่งสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต, กรณีลดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ระบบเติมเงิน (พรีเพด) เหลือ 20%, กรณีโรมมิ่งสัญญาณมือถือ, กรณีให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลทหารพม่าเพื่อนำไปซื้อสินค้าบริษัทชินแซท ฯลฯ ทั้งหมดล้วนปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ คดีทักษิณร่ำรวยผิดปกติ
เป็นการตอกย้ำพฤติการณ์อาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตยบังหน้า ปล้นชาติปล้นแผ่นดินของระบอบทักษิณ ประชาธิปไตย ใช่ดูแค่ว่ามาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องตรวจสอบพฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐด้วย ว่าอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือไม่?
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และ นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และเป็นอดีตปลัดไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1-3 ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51%เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
โดยศาลฎีกาฯพิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มีความผิดลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วน นายไกรสร พรสุธี และ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 5 ปี
ทั้งนี้พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ศาลฎีกาฯสรุปเป็นข้อเท็จจริง มีใจความสำคัญว่า กรณี นพ.สุรพงษ์ อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 ถึงจะมีการทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ถูกตีเรื่องกลับเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ แม้ต่อมาส่งหนังสือไปหารือยังอัยการสูงสุด (อสส.) โดย อสส. ระบุว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองถูกฟ้องร้องในภายหลัง นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ ควรทราบว่า นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) คือประธานกรรมการผู้บริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคนลงนามสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ซึ่งการส่งเรื่องเข้าไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีมติ จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้
ส่วนกรณีของนายไกรสร ในฐานะเป็นประธานกรรมการประสานจัดการดูแลเรื่องการทำสัญญาดังกล่าว ไม่ได้มีการวิเคราะห์ประเด็นความเห็นแย้งจากนิติกรชำนาญการ กระทรวงไอซีที ที่แย้งว่า หากมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานจะทำให้ประเทศชาติได้รับผลกระทบ ขณะที่นายไชยยันต์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ ได้วิเคราะห์แต่ความเห็นด้านกฏหมาย ไม่ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศบ้าง
ประเด็นส่งท้ายต้องไม่ลืมที่มา “ดาวเทียมทักษิณ” ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า ไม่เกี่ยวข้องกับความร่ำรวยของ ทักษิณ ชินวัตร แต่คอลัมน์นิสต์ดัง อย่าง “เปลว สีเงิน” เคยให้ข้อมูลผ่าน คอลัมน์ “คนปลายซอย” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 พ.ย. 2551 ความตอนหนึ่งระบุว่า
“โครงการดาวเทียมสื่อสาร เริ่มมาตั้งแต่ปี 2526 และเริ่มดำเนินการในปี 2528 โดยมีบริษัทเอกชนเสนอตัวมาหลายราย แต่ไม่สามารถทำข้อตกลงให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย กระทั่งปี 2533 จึงมีการประกาศเชิญชวนอีกครั้ง ผลปรากฎว่าบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง โดยมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ในยุคที่ รสช.เรืองอำนาจ หลังก่อรัฐประหาร 7 เดือน”
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ฉบับดังกล่าวระบุชัดเจนว่า...“สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 เดือน กันยายน พ.ศ.2534 ณ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร ระหว่าง กระทรวงคมนาคม โดย นายนุกูล ประจวบเหมาะ ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฝ่ายหนึ่ง กับ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม”
ดังนั้นสัญญาดังกล่าวจึงมีการทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ที่มี"บิ๊กจ๊อด" ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะ!!!