- 25 เม.ย. 2562
อีกครั้งไทม์ไลน์ร้อน คำแก้ตัวของ “ธนาธร” กรณีถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ชนวนสงสัยทำหลักฐานย้อนหลัง เพราะคำพิพากษา ให้“ภูเบศวร์” พ้นผู้สมัครส.ส.หรือไม่??
ถือเป็นวิบากกรรมสำคัญทางการเมืองของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพราะเจ้าตัวไม่สามารถชี้แจงในข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น จากการถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน รวมถึงการอธิบายข้อมูลในหลายครั้ง ก็มีลักษณะแค่เพียงเพื่อพยายามหักล้างข้อสังเกตุของสื่อมวลชนเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น ทำให้ท้ายสุดจึงนำมาซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาของกกต. เมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2562
“เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ร้องว่านายธนาธร ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 1 เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3) อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนาธรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001-2025000 กกต.จึงได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร โดยมอบหมายให้เลขาธิการ กกต. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและรับฟังพยานหลักฐานแทน ตาม พ.ร.ป. คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 ข้อ 64 และให้ดำเนินการไต่สวนให้สิ้นกระแสความ
ทั้งนี้ตามข้อกล่าวหาข้างต้น นายธนาธร มีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการชี้แจงแสงดหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา”
ถือเป็นหลักวิธีปฏิบัติของกกต.เพื่อนำไปสู่กระบวนการนำสืบข้อเท็จจริงของกกต. ในการแสวงหาความเป็นธรรมให้กับทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่การเมืองฟากฝั่งพรรคอนาคต และเครือข่ายที่มีแนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน กลับเลือกวิธีการเคลื่อนไหวโจมตีกกต.ในเชิงกล่าวร้าย แม้กระทั่งมุมมองของนายธนาธรเอง ที่วันนี้ได้รับโอกาสจาก กกต.ให้อธิบายในทุกสิ่งเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
“ตนยังอยู่ที่ยุโรป ประชาชนทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง ยังมีกำลังใจที่แข็งแรง ไม่ใช่เพียงแค่ตนแต่พรรคอนาคตใหม่ยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของพวกเรา และยังเชื่อว่าในกรณีนี้เป็นคดีที่มีความมุ่งหวังทำลายทางการเมือง จะขอเดินหน้าสู้คดี ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”
ตามหลักความเป็นจริง นายธนาธรมีสิทธิ์เต็มที่ในการแก้ข้อกล่าวหา หรือ อธิบายความจริงทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำในเชิงปลุกระดมใด ๆ เลย อย่างกรณนี้ที่เลือกจะสร้างกระแสตอบโต้กกต.และผู้ร้อง อย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา หรือ แม้กระทั่งสื่อมวลชน ว่า สร้างกระบวนการทีมีเจตนามุ่งหวังทำลายทางการเมือง
ย้ำชัด ๆ อีกครั้งว่า ความวุ่นวายทั้งหมด แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากตัว นายธนาธร และครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจเอง ที่ไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนการเข้าสู่สนามการเมือง หรือ การสมัครส.ส.ให้เป็นไปตามบทบัญญัติทางกฎหมายตั้งแต่ต้น และจะด้วยเจตนาใดๆ ก็ตาม ผู้สมัครส.ส.ทุกคนต้องไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเกี่ยวข้อง
“ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 ระบุถึงข้อห้าม บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะเนื้อความในวงเล็บ (3) ระบุชัดเจนถึงข้อห้าม สำหรับบุคคลที่เข้าข่าย การเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”
ในกรณีนี้โดยความเข้าใจทั่วไป เชื่อว่านายธนาธรรับรู้มาตั้งแต่ต้น สืบเนื่องจากการแสดงเจตนานำส่งจดหมายถึง คณะกรรมการ บริษัท มติชน (มหาชน) จำกัด ขอลาออกจากกรรมการบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2561 ด้วยเหตุผลที่ไม่สลับซับซ้อนใด ๆ เลย ว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 มีกำหนดจะไปยื่นจัดตั้งพรรคการเมือง
แปลความโดยง่าย ๆ ก็คือ นายธนาธรเตรียมตัวเข้าสู่เส้นทางการเมืองมาก่อนล่วงหน้าจะเปิดสมัครรับเลือกตั้งเกือบ 1 ปีเต็ม ด้วยเข้าใจเป็นอย่างดีถึงกรอบข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แต่สำหรับหุ้น “วี-ลัค มีเดีย” ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุน
มีข้อพิจารณาว่าทำไมนายธนาธร ใช้เวลาตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดถึง 2 ปี จนกลายมาเป็นเงื่อนปมผูกมัดความผิด จนยากจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น หรือ กดดันการทำหน้าที่ของกกต.สามารถละเลยกรณีนี้
จากภาพรวมของสถานการณ์ล่าสุด ต้องย้อนทำให้เห็นภาพชัด ๆ อีกครั้งว่าทำไมการชี้แจงของนายธนาธร และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงทีมกฎหมาย จึงกลายเป็นปัญหา
เริ่มจากไทม์ไลน์สำคัญ เมื่อ วันที่ 18 มีนาคม 2562 นายธนาธร เปิดแถลงข่าวเรื่อง การโอนหุ้นไปให้กองทุนเป็นผู้ดูแล หรือที่เรียกว่า Blind Trust โดยอ้างว่าเพื่อเป็นแบบอย่างนักการเมือง หรือนักธุรกิจที่เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้ถูกครหาเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์ตัวเอง
ลำดับเหตุการณ์ประจวบเหมาะ และต้องพูดถึงควบคู่ เพราะอาจเป็นชนวนเหตุของขั้นตอนการอ้างเรื่องการโอนหุ้น “วี-ลัค มีเดีย” ในวันที่ 8 มกราคม 2562 หรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องควรพิจารณายิ่ง เนื่องจาก ในวันที่ 19 มีนาคม 2562 หรือหลังจากที่นายธนาธร แถลงข่าวเรื่อง Blind Trust เพียง 1 วันเท่านั้น
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำพิพากษาสั่งให้ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนคร ออกจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นเจ้าของสื่อ อันเงื่อนไขที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42
แม้ว่านายภูเบศวร์ จะชี้แจงว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ดังกล่าว เป็นหน่วยธุรกิจที่จดทะเบียนไว้เพื่อประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่มีการแจ้งวัตถุประสงค์จดจัดตั้ง 43 ข้อ ครอบคลุมทุกอย่าง โดยหนึ่งในนั้นก็คือการ “ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล”
ข้อพิจารณาสำคัญ กรณีคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมาถูกตั้งเป็นประเด็นข้อสังเกตไว้ ว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยบังเอิญ หรือไม่ อย่างไร กับที่มา ที่ไป ของการนำเสนอเอกสารภายในบริษัท วี-ลัค มีเดีย และครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ เรื่อง การขาย-โอนหุ้น ในวันที่ 8 มกราคม 2562 โผล่ออกมาตอบโต้ข้อสงสัยของ “สำนักข่าวอิศรา”
จากรายละเอียดที่ปรากฎเป็นเอกสารทางการ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการจดแจ้งการถือครองหุ้นวี-ลัค มีเดีย ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามหมายเลขหุ้นที่ นายธนาธร เคยถือครอง ต่อนายทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ ใน วันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เลยจากการกำหนดสมัครรับเลือกตั้งในช่วงระหว่าง วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ไปแล้ว
และทำให้นายธนาธร ต้องออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวเป็นครั้งแรก ด้วยความสุ่มเสี่ยงทางข้อกฎหมายเช่นเดียวกับนายภูเบศวร์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่เกิดเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็น
“วันที่ 23 มีนาคม 2562 นายธนาธร โพสต์ข้อความและเอกสารการโอนหุ้นวี-ลัค มีเดีย ผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ระบุข้อความว่า ตนและภรรยาโอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา หรือ 1 เดือนก่อนการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้”
เป็นความพยายามอธิบายข้อมูล หลังจากใน วันที่ 22 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิศรา เปิดประเด็นนำสืบกรณีดังกล่าว ด้วยถ้อยคำสำคัญ ว่า “ธนาธร-ภรรยา โอน 900,000 หุ้น บ.วี-ลัค มีเดีย นิตยสารดัง ให้ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 21 มี.ค.62 ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. เพียง 3 วัน หลังประกาศใช้แนวทาง Blind Trust มอบให้กองทุนจัดการทรัพย์สิน 5 พันล้าน และ รธน.ห้าม ส.ส.เป็นเจ้าของสื่อ”
ทั้งนี้รายละเอียดดังกล่าว ถือเป็นการตั้งข้อสังเกต ตามรายละเอียดเอกสารทางราชการของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น “วี-ลัค มีเดีย” ที่แสดงให้เห็นชัดเจน เรื่องการโอนหุ้นวี-ลัคมีเดีย ของนายธนาธร มาเป็นนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562
ถัดมาเป็นคำชี้แจงครั้งที่ 2 เมื่อ วันที่ 29 มีนาคม 2562 นายธนาธร ย้ำว่าขาย-โอนหุ้นวี-ลัค มีเดีย ให้นางสมพร ผู้เป็นมารดาไปแล้ว และไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2562 โดยมีหลักฐานยืนยันการปรากฏตัวอยู่ที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ จังหวัดกระบี่
ส่วนเหตุผลของการขาย-โอนหุ้นให้กับนางสมพร ก็เพราะผู้บริหารเห็นถึงผลกระทบความปั่นป่วนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึง ตัดสินใจปิดตัวนิตยสาร Who ตั้งแต่ปี 2559 และ นิตยสารอื่น ๆ ที่ทำสัญญาไว้กับผู้ว่าจ้าง ได้พิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม 2561 และเมื่อรับรู้ว่าบริษัทไม่มีรายรับใดๆ
จึงทำเรื่องขายหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 หลังจาก บริษัทหยุดการปฏิบัติการไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 โดยเรื่องการดำเนินเอกสารสำนักงานทั้งหมด ถูกโอนย้ายไปให้กับสำนักงานธุรการส่วนตัวของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อปิดบริษัท
รายละเอียดที่ปรากฏเป็นคำชี้แจงข้างต้น ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นข้อสงสัย สืบเนื่องมาจากการที่ สำนักข่าวอิศรา อ้างอิงข้อคำถามคาใจว่า เมื่อมีการแจ้งลาออกผู้ถือหุ้นถึง 2 ราย คือ นายธนาธรและภรรยา แต่ทำไมจำนวนผู้เข้าประชุมถือหุ้นใน วันที่ 19 มีนาคม 2562 จึงยังเท่าเดิม
“บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจฯ เมื่อ 22 มี.ค.62 เมียธนาธร ลาออกกรรมการ ในวันที่ 19 มี.ค.62 แต่เอกสารระบุมีกรรมการ-ผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุม 10 คน ทั้งที่ หน.พรรคอนาคตใหม่ แจงโอนหุ้นให้แม่ ตั้งแต่ 8 ม.ค. 62”
เท่ากับเป็น 2 ประเด็นปริศนาที่แสดงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องความล่าช้าในการตัดสินใจขาย-โอนหุ้น วี-ลัค มีเดีย ของตัวนายธนาธร ทั้ง ๆ ที่นายธนาธร อธิบายข้อมูลอย่างเข้าใจในทิศทางธุรกิจสิ่งพิมพ์ มาตั้งแต่ปี 2559 แต่มีข้อสงสัยว่า ทำไมยังดันทุรังถือหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเลือกตัดสินใจขาย-โอนหุ้นในช่วงต้นปี 2562 หรือ วันที่ 8 มกราคม 2562 ตามที่กล่าวอ้าง และอีกหนึ่งประเด็นเรื่องจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมใน วันที่ 19 มีนาคม 2562
ท้ายสุดจึงนำมาซึ่งคำกล่าวอ้างรอบใหม่ ใน วันที่ 2 เมษายน 2562 ของนายธนาธร ว่า กรณีจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมวันที่ 19 มีนาคม 2562 ตามข้อสังเกตว่า เมื่อมีผู้ถือหุ้น และกรรมการ ประกอบด้วย นายธนาธร ขาย-โอนหุ้น และภรรยา ลาออกจากการเป็นกรรมการ วี-ลัค มีเดีย แล้ว ทำไมยังคงมีผู้เข้าร่วมประชุม 10 รายเท่าเดิม เป็นผลมาจากการที่ นางสมพร ได้โอนหุ้นให้กับ นายเอ และบี หลานชาย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 และ ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2562 นายเอ และ บี หลานชาย ได้ตัดสินใจโอนหุ้นกลับคืนให้นางสมพร จึงทำให้จำนวนผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม มีทั้งสิ้น 10 ราย ตามที่สื่อตั้งข้อสังเกตุว่ามีความไม่ปกติ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อคำถามที่เกิดขึ้น จากกรณีการถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร และเจ้าตัวพยายามรวบรวมข้อมูล มาไล่ตอบทีละคำถาม พร้อม ๆ กับค่อยๆเติมเนื้อหาเพิ่มเติมมาตามประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงต่าง ๆ นายธนาธร ย่อมสามารถชี้แจงอย่างละเอียด หมดครบถ้วนภายในคราวเดียว
เหล่านี้จึงทำให้น่าสนใจยิ่งว่า ในการเข้าพบกกต.เพื่อตอบข้อสงสัยต่าง ๆ คำอธิบายนายธนาธรจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะยิ่งเมื่อทุกวันนี้ได้เกิดข้อสงสัยแล้วว่าพยาน หลักฐาน ต่าง ๆ เป็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นมาก่อน หรือ กระทำขึ้นภายหลังถูกตั้งข้อสงสัย จนเกิดกระบวนยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกันแน่??
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ธนาธรหนาวเข้าเกณฑ์ไหม.. เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้ หัวหน้า-กก.บห.พรรค ผิดคุณลักษณะต้องห้ามสมัครส.ส. มีสิทธิ์ถูกยุบพรรคได้!!
-"ชูวิทย์" สั่งสอน "ธนาธร-ปิยบุตร" ระวังซ้ำรอย ไม่ได้กลับบ้านแบบ"ทักษิณ" ลั่น ล้มเมื่อไหร่..ยากที่ลุกขึ้นยืน!