- 03 พ.ค. 2562
ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือครองหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อม ๆ กับคำชี้แจงและหลักฐานใหม่ที่โผล่ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อแก้ครหาในแต่ละประเด็นจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะกับเอกสารการเงินที่ถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะเป็นธุรกรรมส่วนบุคคล ระหว่าง นายธนาธร กับ นางสมพร ผู้เป็นมารดา
ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือครองหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อม ๆ กับคำชี้แจงและหลักฐานใหม่ที่โผล่ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อแก้ครหาในแต่ละประเด็นจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะกับเอกสารการเงินที่ถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะเป็นธุรกรรมส่วนบุคคล ระหว่าง นายธนาธร กับ นางสมพร ผู้เป็นมารดา
ก่อนหน้านั้น สนข.ทีนิวส์ ได้เน้นย้ำแล้วว่า ถ้านับห้วงเวลาจากวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งนายธนาธร อ้างว่าเป็นวันการขาย-โอนหุ้น ให้กับนางสมพร จนถึงก่อนวันสมัครับเลือกตั้ง คือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ นายธนาธร และ นางสมพร มีเวลามากถึง 29 วันในการที่จะทำให้ธุรกรรมการขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย เสร็จสิ้นเรียบร้อย ตามกระบวนการกฎหมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าทำไมกรณีนี้ ทางผู้บริหาร บริษัทวี-ลัค มีเดีย กลับนิ่งเฉย ปล่อยให้เกิดปัญหาถาโถมเข้าใส่นายธนาธร แทบไม่เว้นวัน แล้วค่อยมาไล่ตามตอบปัญหาทีละข้อ
โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม ซึ่งระบุชัดว่า การโอน (หุ้น) จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
ไม่นับรวมคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวเนื่อง ตามองค์ความรู้ด้านกฎหมาย ที่ อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เคยอธิบายเป็นตัวอย่างว่า
“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 2219 วรรคสาม บัญญัติว่า การโอนหุ้นให้แก่กันจะนํามาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งช่ือและสํานักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
....ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5873/2543 ว่า การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 1129 วรรคสาม
.....เมื่อโจทก์ขายหุ้นแล้วมิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้วเพื่อใช้ยันจำเลยคือกรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์จึงต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทฯ มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้
.....กรณีนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อ้างว่าได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 แต่เมื่อไม่ได้นำไปจดแจ้งการโอนโดยระบุชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน ตามแบบ บอจ.5 จึงอ้างการโอนหุ้นใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้”
และจะด้วยเหตุกรณีนี้หรือไม่ พฤติการณ์ของนายธนาธรจึงออกมาในรูป พร้อมจะเดินหน้าเอาผิดกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่อาจเข้าข่ายถือครองหุ้นสื่อเช่นกัน ไม่เท่านั้นพรรคอนาคตใหม่ ยังเลือกตอบโต้ ด้วยการแจ้งข้อกล่าวหา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตามความผิดมาตรา 143 วรรค 2 ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ส.ส. โดยระบุว่าเป็นการกลั่นแกล้งกล่าวหา กระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ประเด็นข้อพิจารณาก็คือ คำอธิบายความของนายธนาธรที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด กลับไม่เป็นผลในเขิงบวกเลย แม้กระทั่งกับเอกสารทางการเงิน ซึ่ง สนข.ทีนิวส์ ได้รับข้อมูลเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกสารทางการเงินของ นายธนาธร จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงิน การธนาคาร ต่อกรณีการขาย-โอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย หลังจากเห็นตั้นขั้วเช็ค ดังต่อไปนี้
1. หลักฐานสำคัญที่สุดคือ “จดทะเบียนหุ้น (โดยบริษัท) และ แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 21 มีนาคม 2562” ซึ่ง ธนาธร อุตส่าห์อ้างว่า บึ่งรถมาจากสตึก ถูกใบสั่ง 2 ใบ เพื่อมาโอนหุ้น แต่หลักฐานที่ “ทำย้อนหลังไม่ได้” กลับยังไม่แก้ไขข้อสงสัยนี้ เพราะ ธนาธร อย่างน้อย ต้องเอาเช็คเข้าบัญชีได้ ถ้าเป็นการขายเพื่อโอนหุ้นจริง ให้นายทะเบียนบริษัทออกใบหุ้นให้ได้ และ ไปจดทะเบียนได้ หลังวันที่ 8 มกราคม ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่ได้ทำ
2. เช็คที่นำมาแสดง เหมือน “ทำย้อนหลัง” เพราะมีการถ่ายรูปไว้โดยไม่มีตราประทับของธนาคาร เพราะ ถ้าเข้าธนาคารจะต้องมีตราประทับธนาคารผู้รับจะไม่สะอาดเช่นนี้
3. ต้นขั้วที่มาแสดง เลขที่เช็ค H 11309959 จ่าย นายธนาธร 6,750,000 บาท ที่ราคาพาร์ และ เลขที่เช็ค H 11309960จ่าย นาง รวิพรรณ2,250,000 บาท ที่ราคาพาร์เช่นกัน
4. อย่างไรก็ตาม บัญชีที่เลือกใช้ คือ บัญชีกระแสรายวัน นาง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) สาขา ถนนบางนา-ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) บัญชีเลขที่ 2990011444 ยังมีข้อพิรุธเพิ่มเติมว่า เป็นบัญชีที่ไม่ Active คือ ไม่ค่อยมีรายการเลย ด้วยเช็คเลขที่เช็ค H 11309955 - H 11309958จำนวน 4 ฉบับ ใช้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561ก่อนหน้านั้น ก็เป็น H 11309954 ใช้ในวันที่ 10ตุลาคม2561 และH 11309953 ใช้ในวันที่ 14พฤษภาคม 2561 สรุปแล้ว เช็ค 8 ใบถูกใช้เพียง 4 วัน เท่านั้นในระยะเวลาเกือบ 8 เดือนเป็นบัญชีที่ใช้เป็นปรกติจริงๆหรือ ? หรือ เพราะเป็นบัญชีที่มีรายการเคลื่อนไหวน้อย จึงยังสามารถทำ “หลักฐานย้อนหลัง”ได้เป็น 8 มกราคม2562 ได้หรือไม่ ?
5. คำถามที่ นาย ธนาธร ควรแสดงหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้พ้นข้อสงสัย ด้วยหลายเรื่อง ยังไม่ตอบ คือ
5.1. (ยังไม่ได้ตอบ) การเข้าบัญชีเช็ค 6,750,000 บาท ของ ธนาธร ได้เข้าบัญชี หรือไม่ ? เมื่อใด ?:ถ้าไม่มีการเอาเงินเข้าบัญชี แสดงว่า เป็นการ “ทำเอกสารย้อนหลัง” ไหม ? อุตส่าห์บึ่งรถมาจากสตึก แต่เช็คที่รับมาก็ไม่เข้า เพราะวันนั้น ไม่ได้ทำกันจริงหรือไม่ ? ไม่มีเช็คจริงในวันนั้นหรือไม่ ? เพราะ การเข้าบัญชี ทำหลักฐานย้อนหลังไม่ได้
5.2. มี เช็ค ของ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของนายธนาธร แล้ว เช็คสะอาดเหมือนกันหรือไม่ ?ลูกสะใภ้นำเช็คเข้าเข้าบัญชีแล้วหรือไม่ ? เมื่อใด ? เข้าวันที่เท่าไร ? ก่อน 6 กุมภาพันธ์ หรือไม่ ? :ถ้าไม่มี หรือ ยังไม่ได้เข้าบัญชี หรือ เข้าบัญชีภายหลัง แสดงว่า หลักฐาน ธนาธร แสดงเท็จหรือไม่ ? นางสมพร จ่ายราคาพาร์เต็ม ให้สะใภ้ ทั้งๆที่ มูลค่าต่ำกว่าครึ่งจริงๆหรือไม่ ? หรือ ไม่มีการจ่ายเงินจริง ?
5.3. แสดงหลักฐาน statement บัญชีกระแสรายวัน นาง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) สาขา ถนนบางนา-ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) บัญชีเลขที่ 2990011444 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 21 มีนาคม 2562 :ก็น่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้มากมาย ดังนี้
5.3.1. เช็คที่จ่าย นายธนาธร 6,750,000 บาทตัดบัญชีไปหรือไม่ ? วันที่เท่าไร ?
5.3.2. เช็คที่จ่าย นางรวิพรรณ 2,250,000 บาทตัดบัญชีไปหรือไม่ ? วันที่เท่าไร ?
5.3.3. ใช้เช็คนี้กับ บัญชีคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ? ทั้งกรณี หลาน 2 คน คือ นายทวี และ นายปิติและ เจ้าของหุ้นเดิมของวีลัคมีเดีย ซึ่งหุ้นมารวมที่นางสมพร ได้แก่ นายณรงค์ศักดิ์ โอปีสันธน์นายอรัญ วงศ์งามกิจและ นางกมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่ ? ถ้าไม่ เพราะ อะไร ? ถ้าใช่ จะได้แสดงหลักฐานง่ายๆ ด้วย statement ของบัญชีนี้ว่า ได้จ่ายแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าไร ? วันที่เท่าไร ?
5.4. (ยังไม่ได้รับคำตอบ) มีหลักฐานตราสารโอนหุ้น และ เช็คที่นางสมพร ขายให้ นายทวี และ นายปิติ หรือไม่ ? ราคาพาร์เหมือนกันหรือไม่ ? :ถ้าไม่มี แสดงว่า หลักฐาน ธนาธร แสดง เท็จหรือไม่ ? หลานจะจ่ายราคาพาร์จริงหรือ ? แล้วที่นางสมพร จ่ายราคาพาร์เต็ม ทั้งๆที่ มูลค่าต่ำกว่าครึ่ง จะเชี่อถือได้หรือไม่ ? ถ้านางสมพรโอนให้หลานฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน จะต้องโอนให้เป็นผู้ถือหุ้นทำไม ? เป็นการ “ทำย้อนหลัง” เพียงเพื่อมาชี้แจงจำนวนผู้เข้าประชุมเท่านั้นใช่หรือไม่ ? นางสมพร ซื้อมาราคาพาร์ แต่ยกหุ้นให้หลานฟรี พิสูจน์ว่า ที่นางสมพรทำหลักฐานเช็คจ่ายธนาธรที่ราคาพาร์ ซึ่งอาจไม่ได้เข้าธนาคารอีกด้วย เชื่อถือได้หรือไม่ ? พิสูจน์ว่าเป็นการ “ทำย้อนหลัง” หรือไม่ ?
5.5. (ยังไม่ได้รับคำตอบ) มีหลักฐานตราสารโอนหุ้น และ เช็คที่นางสมพร รับโอนคืนจาก นายณรงค์ศักดิ์ โอปีสันธน์225,000 หุ้น(เลขหมายหุ้นที่ 2925001-3150000) นายอรัญ วงศ์งามกิจ225,000 หุ้น (เลขหมายหุ้นที่ 3625001-3670000,4075001-4120000,4187501-4232500) นายอรัญ วงศ์งามกิจ และ นางกมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ225,000 หุ้น (เลขหมายหุ้นที่ 5175001-5220000,5445001-5490000,5220001-5445000) หรือไม่ ? ราคาพาร์เหมือนกันหรือไม่ ? :ถ้าไม่มี แสดงว่า หลักฐาน ธนาธร แสดง เท็จหรือไม่ ?ถ้าต่างราคากัน แสดงว่า เช็คนายธนาธร ที่ทำที่ราคาพาร์ เชื่อถือได้หรือไม่ ? เพราะ เป็นการจดทะเบียนโอนในวันเดียวกันโดยจะพิสูจน์ต่อ กกต. ศาล และ สังคม ต้องพิสูจน์ด้วยหลักฐานที่ “ทำย้อนหลัง” ไม่ได้ แต่ยังมีพิรุธสำคัญ ดังนี้
5.6. (ยังไม่ได้รับคำตอบ) ทำตราสารโอนหุ้นแล้ว หุ้นธนาธร 675,000 หุ้น ผู้โอนได้รับเงิน 6,750,000 บาท ที่ราคาหุ้นละ 10 บาทแต่พิรุธคือ หุ้นละ 10 บาทคือ ราคาพาร์ ทั้งๆที่ทั้งบริษัท มูลค่าตามราคาพาร์ คือ 45,000,000 บาท แต่ สิ้นปี 2560 เหลือ ไม่ถึงครึ่ง คือ เหลือ 21,209,207.33 บาทการซื้อขาย เกินมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นทางบัญชี ย่อมมีความเสี่ยงที่ผู้ขาย อาจถูกประเมินภาษีได้ โดยเฉพาะ กิจการถูกอ้างว่ากำลังจะปิดกิจการอยู่แล้ว ทำไมต้องซื้อขายกันที่มูลค่าเต็มตามราคาพาร์ด้วย?
ขณะที่นายธนาธร ได้ใช้โอกาสในการไปออกรายการโทรทัศน์ ชี้แจงข้อคำถามต่อเอกสารทางการเงิน และธุรกรรมการขาย-โอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย และสนข.อิศรา หยิบยกบางส่วนที่เกี่ยวเนื่องมานำเสนอ มีถ้อยความบางส่วนปรากฏดังนี้ “เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา นายธนาธร ไปออกรายการ “ถามตรงๆกับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” ทางช่องไทยรัฐทีวี
นายธนาธรยังคงยืนยันว่า การโอนหุ้นมีผลสำเร็จในวันที่ 8 ม.ค.ไปแล้ว ทั้งการจ่ายเงินและการเปลี่ยนแปลงระเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวีลัค-มีเดีย จำกัด เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่ได้นำเช็คที่ชำระค่าหุ้นไปขึ้นเงินเลย
“คนทั่วไปจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่ผมต้องบอกว่าการดูแลเงินของผมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับภรรยา หรือ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ผมจะออกจากบ้าน ก็ต้องไปขอเงินภรรยา ซึ่งผมไม่มีแม้แต่บัตรเอทีเอ็ม มีแต่เครดิตการ์ด แล้วเงินสดทั้งหมดผมก็ขอจากแฟนผมทุกเช้า ดังนั้นเช็คที่ได้มาสิ่งที่ผมทำก็คือเอาไปให้แฟน ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ได้แปลกอะไร”
นายธนาธร เน้นย้ำในช่วงถามตอบในรายการอีกว่า “ผมมีหลักฐานในรายละเอียดตรงนี้ครบถ้วนแล้ว โดยมักจะเก็บเช็คเอาไว้ประมาณ 2-3 เดือน หลักฐานการตีตราหน้าตั๋ว แล้วภรรยาจะเอาเช็คจะไปขึ้นเงินเมื่อไรนั้น มันก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเขาได้ทำหน้าที่ในเรื่องการดูแลเรื่องการเงินต่างๆของผม แต่อย่างไรก็ตาม ผมย้ำว่าผมมีหลักฐานชี้แจงในประเด็นข้อกล่าวหาต่างๆครบถ้วนแล้ว”
จากข้อสังเกตของนักการเงิน การธนาคารที่ตั้งคำถามฝากไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าด้วยหลักฐาน เรื่องเอกสารการเงินในการขายหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จนมาถึงคำตอบในคำถามที่เคยมีคนทวงถามมาโดยตลอด เรื่องเช็คและหลักฐานการนำจ่ายเงินจำนวน 6,750,000 บาท เป็นค่าหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ระหว่างนายธนาธร และนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นมารดา ว่า เช็คมูลค่า 6,750,000 บาท ยังไม่ได้นำเข้าบัญชีหรือขึ้นเงินตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น พร้อมอ้างว่าเป็นความรับผิดชอบของภรรยา เชื่อแน่ว่าข้อสงสัยนี้คงจะไม่จบลงง่าย ๆ อย่างแน่นอน ในทางตรงข้ามจะยิ่งผูกมัด ครหาว่าด้วยการทำธุรกรรมขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ย้อนหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่มูลผิดคดีอาญา ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ !!