- 14 พ.ค. 2562
ภาพจำยังหลอน!! ทักษิณซื้อแมนฯซิตี้ แค่ 1 ปีขายฟันกำไร วันนี้เอาอีก จะเทคโอเวอร์ "คริสตัล พาเลซ" นึกหรือว่าลืมง่ายๆ เคยทำ เคยพูดอะไรไว้??
กลายเป็นกระแสข่าวใหญ่ในเชิงธุรกิจที่มีกลิ่้นการเมืองผสมร่วมอยู่เต็ม ๆ สำหรับกระแสการเทคโอเวอร์ สโมสรฟุตบอล คริสตัล พาเลซ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ของ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีอาญาหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไทย ด้วยมูลค่าเม็ดเงินราว 150 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 6,225 ล้านบาท พร้อมกับมอบหมายให้ นายมิตติ ติยะไพรัช อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ และประธานสโมสรฟุตบอลสิงห์เชียงราย ยูไนเต็ด เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ
ประเด็นน่าสนใจตามมาทันที กรณีนี้เป็น Fact หรือ Fake ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ การที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ จากสโมสรฟุตบอล คริสตัล พาเลซ และรวมถึง นายมิตติ ก็ยังไม่ได้ข้อมูลชัดเจน โดยระบุว่าเป็นเพียงกระแสข่าว และเป็นเรื่องของอนาคต เพราะส่วนตัวยังมีความสุขในการรับผิดชอบสโมสรสิงห์เชียงราย ยูไนเต็ด
ก่อนจะเกิดกระแสข่าวอีกด้านในลักษณะยอมรับว่า ดีลธุรกิจดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ส่วนเหตุผลที่เลือกซื้อทีมคริสตัล พาเลซ ก็เพราะตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน มีอันดับอยู่กลางตารางคะแนนพรีเมียร์ลีก จึงมีความคุ้มค่าเพียงพอจะนำมาต่อยอดให้สำเร็จ ตบท้ายด้วยโปรโมชั่นพิเศษ จะเปิดโอกาสให้นักฟุตบอลไทยไปร่วมเล่นเพื่อหาประสบการณ์
ขณะที่อีกมุมหนึ่งของการแพร่กระจายของข่าวสารชิ้นนี้ ก็ตอกย้ำให้เห็นอีกมิติในกลยุทธ์การตลาดของ นายทักษิณ ที่เลือกจังหวะให้เกิดประเด็นดังกล่าว ในช่วงประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ จาก 2 ขั้วการเมือง คือ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กับฝ่ายต่อต้านคสช. ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าผู้นำรัฐบาลชุดใหม่จะยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์
และทำให้ช่องโอกาสกลับประเทศของ 2 พี่น้องชินวัตร อย่าง นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือนลางมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนโอกาสแทบจะเหลือเป็นศูนย์ แต่ในเชิงการเมืองชื่อของ "ทักษิณ" จะยอมให้หมดสิ้นไปจากกระแสไม่ได้
เช่นกรณีตัวอย่างในเดือนกรกฎาคม 2550 ภายหลังจากถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549
นายทักษิณเลือกใช้เงินจำนวนประมาณ 80 ล้านปอนด์ หรือ ราว 5,200 ล้านบาท ที่นำฝากสถาบันการเงินต่างประเทศ ลงทุนซื้อสโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เงิน 80 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,200 ล้านบาท) โดยมีอาคารชินวัตร 3 เป็นที่ตั้งร้านแมนฯซิตี้ สโตร์ พร้อมประกาศจะสร้างสโมสรแห่งนี้ให้เป็นอีกสโมรสรฟุตบอลชั้นนำ เหมือนกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ไม่เท่านั้น นายทักษิณยังเดินเกมส์การตลาด สร้างกระแสนิยมจากแวดวงกีฬาไทย โดยการเซ็นสัญญาซื้อตัวนักเตะดาวรุ่งของไทย 3 คน เข้าสู่สโมสร ได้แก่ ธีระศิลป์ แดงดา, เกียรติประวุฒิ สายแวว และ สุรีย์ สุขะ เข้าสู่สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้
แต่ท้ายสุด 3 นักฟุบอลชื่อดังของไทยทั้ง 3 ราย ก็เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดหมาย คือ ไม่ได้รับโอกาสในการเป็นผู้เล่นแต่อย่างใดในสโมสรพรีเมียร์ลีก หลังจากนั้นภาพลักษณ์ของนายทักษิณ กับ สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ดูเหมือนจะไปในทางตรงข้ามตามลำดับ ด้วยความเข้าใจมากขึ้นว่า ทุกอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น
ตัวอย่างหนึ่งคือการรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี อ้างอิงข้อมูลหนังสือพิมพ์การ์เดียน ของอังกฤษ แสดงข้อความสัมภาษณ์ นายแกรี่ คุก ประธานบริหารแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ
สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในช่วงที่ นายทักษิณ เป็นประธานสโมสรว่า “ทักษิณสร้างความล้มเหลวในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร พร้อมย้ำว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่ไม่ได้ศึกษาวิจัยทักษิณ อย่างดีพอ”
ไม่เท่านั้นคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้บริหารสโมสร แมนเชสเตอร์ ซินี้ อย่าง นายแกรี่ คุก ยังพาดพิงวิธีการทำงานของนายทักษิณ อย่างรุนแรง ว่า "บรรยากาศในสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เหมือนอยู่ในกรงสิงโต แต่เงินของทักษิณอยู่ในหีบใส่กุญแจล็อก ไม่สามารถนำมาจับจ่ายซื้อนักเตะ และถึงกับต้องไปขอยืมเงิน 2 ล้านปอนด์จากนายจอห์น วอร์เดิล อดีตประธานสโมสรคนเก่ามาใช้จ่าย"
หรือแม้แต่ มาร์ค ฮิวจ์ส ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในช่วงนั้น ที่ออกมาแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับการจัดการสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ว่า “การเลือกย้ายออกจากทีมแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส เพื่อมารับงานคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เกิดจากการคาดเดาในด้านดีมากเกินไป โดยเชื่อไปเองว่า ทั้งคนและสิ่งอำนวยความสะดวกของทีมเรือใบสีฟ้าจะสุดยอด แต่ในความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหมายไว้แต่อย่างใด”
จากนั้นในระยะเวลาเพียง 1 ปี ทักษิณก็เลือกวิธีการขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้กับกลุ่มทุนตะวันออกกลาง โดยในวันที่ 1 กันยายน 2551 เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ออกแถลงการณ์การโอนถ่ายหุ้นจาก นาย ทักษิณ ชินวัตร ให้ ชีค มันซูร์ ซาเยด นาห์ยาน และกลุ่มทุ่นอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป (เอดียูจี) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยมีรายงานข่าวว่า ชีค มันซูร์ มหาเศรษฐีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลือกที่จะยอมจ่ายเงินสูงถึง 150 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 9,750 ล้านบาท เพื่อขอซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่อจาก นายทักษิณ หลังจากนายทักษิณ เข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลดังกล่าว ด้วยเม็ดเงินราว 80 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 5,200 ล้านบาท ส่งผลให้ภายในปีเดียว ทักษิณ สามารถทำกำไรขั้นต้นจากการซื้อมาขายไป สโมรสรฟุตบอลในอังกฤษ คิดเป็นเงินราว 4,550 ล้านบาท
จากนั้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 เว็บไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์การ์เดียน ประเทศอังกฤษ รายงานว่า เจ้าของสโมสรฟุตบอล "เรือใบสีฟ้า" แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เลือกจะตัดสินใจปลด นายทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง ประธานกิตติมศักดิ์ ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ท่ามกลางกระแสข่าวในเชิงลบ ว่า การตัดสินใจดังกล่าว เป็นเพราะนายทักษิณตกเป็นผู้ต้องหาคดีทุจริตคอร์รัปชั่น และกลายเป็นนักโทษหนีคดีอาญาของไทย ซึ่งการปล่อยให้นั่งอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ต่อไปจะสร้างความเสื่อมเสียให้สโมสร
ขณะที่ในปี 2559 นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ว่า โดยยอมรับส่วนตัวก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมฟุตบอลอังกฤษมากนัก และสนใจทีมลิเวอร์พูลเป็นพิเศษ แต่การตัดสินใจเลือกซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เนื่องจากเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่า ราคาไม่สูงมาก
ส่วนสาเหตุที่เลือกขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นายทักษิณ ระบุว่า เหตุผลหนึ่งมาจากเรื่องเงินทุน เพราะการทำทีมฟุตบอลต้องใช้จ่ายเงินมากตลอดเวลา ในขณะที่ตนเองต้องเผชิญปัญหาการเมือง และถูกคำสั่งอายัดทรัพย์
ขณะที่เมื่อถูกสื่อถามว่า สนใจจะเข้าไปซื้อทีมใหม่ในอังกฤษอีกหรือไม่ นายทักษิณ บอกว่า คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว เพราะปัจจุบันทีมส่วนใหญ่มีราคาสูงมาก และได้อุทิศชีวิตเป็นแฟนแมนเชสเตอร์ซิตี้ไปแล้ว จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของทีมอื่นได้ หากไม่ใช่ แมนเชสเตอร์ซิตี้!!!