- 18 พ.ค. 2562
ธนาธรจับปิดสวิตซ์สว. มาโหนพฤษภาทมิฬ ไม่ให้คนเมื่อ27ปีที่แล้วตายฟรี ไม่สมยอมระบอบเผด็จการ
จากกรณีเฟซบุ๊ก พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party ได้โพสต์ข้อความร่วมรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยระบุว่าร่วมกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จในยุคสมัยของพวกเรา ร่วมรำลึก 27 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 มีที่มาที่ไป จากการยึดอำนาจทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พ่อของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยอ้างว่ารัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ มีการทุจริตคอรัปชัน กดขี่ข้าราชการ เป็นเผด็จการรัฐสภา ทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันกษัตริย์
หลังจากการยึดอำนาจรัฐประหาร ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) และหลังจากนั้น มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 โดยคณะรัฐประหาร รสช. ได้พยายามสืบทอดอำนาจโดยการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมาเพื่อลงเลือกตั้ง
แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ในการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคสามัคคีธรรมร่วมกับพรรคอื่นๆ โหวตเลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหาร รสช. เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้น พล.อ.สุจินดาได้พูดในหลายวาระหลายโอกาสว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นที่มาของประโยคอันอื้อฉาวที่ พล.อ.สุจินดาพูดในขณะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
นำมาซึ่งความไม่พอใจของนักศึกษาประชาชนเป็นวงกว้าง เกิดการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออกและย้ำว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง”
จนกระทั่งในช่วงวันที่ 17 พฤษภาคมผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายจากท้องสนามหลวงผ่านถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่กลับถูกกองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสกัดกั้น เกิดการกระทบกระทั่งกันจนบานปลายกลายเป็นการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงโดยการใช้อาวุธและกระสุนจริงโดยกองกำลังทหารในตลอดช่วงอีกหลายวันให้หลัง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกทำให้สูญหายอีกจำนวนมาก
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการปักธงประเด็นทางการเมือง คือหลักการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่งผลมาถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2540 ที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมกันนั้นความนิยมในสถาบันทหารลดต่ำลงจนต้องถอยออกไปจากการเมืองไทยเป็นเวลานับสิบปี
แต่จนแล้วจนรอดเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ก็เกิดรัฐประหารไปแล้ว 2 ครั้งในรอบทศวรรษ ใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ 2 ฉบับ โดยปัจจุบันใช้ฉบับปี 2560 กลับมาเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2534 แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่าเดิมก็คือ ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมกับมีกลไกเครื่องมืออีกมากมายในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ให้อำนาจมากมายแก่องค์กรสถาบันที่ไม่ได้มาจากประชาชน และไม่เป็นประชาธิปไตย
ภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคการเมืองที่รักและหวงแหนประชาธิปไตยทุกพรรค คือการทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่หลักการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นำทหารออกจากการเมือง และร่วมนำตัวคนกระทำผิด สั่งฆ่าประชาชนไม่ว่าในเหตุการณ์ครั้งไหนมารับผิดชอบให้ได้ จะต้องไม่มีใครลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป และจะต้องไม่มีใครกล้าล่วงละเมิดประชาชนได้อีก ทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ร่วมกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จในยุคสมัยของพวกเรา
ต่อมานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความ โดยมีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่มาด้วย
ร่วมกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จในยุคสมัยของพวกเรา
นอกจากนี้นายธนาธร ยังโพสต์ข้อความกรณีดังกล่าวลงในทวิตเตอร์ Thanathorn Juangroongruangkit @Thanathorn_FWP ด้วยว่า
ถ้าเราสมยอมกับระบอบเผด็จการยอมกับเรื่อง ส.ว. แต่งตั้ง นั่นแสดงว่าเราไม่เคยเรียนรู้จากอดีตเลย เราจะไม่ให้คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากเหตุการณ์ #พฤษภา35 เมื่อ 27 ปีที่แล้วบาดเจ็บล้มตายอย่างฟรีๆ ผมขอเรียกร้องทุกคนร่วมกัน #ปิดสวิตช์สว และทำให้การรัฐประหารนั้นสิ้นสุดในยุคสมัยของเรา