- 30 พ.ค. 2562
ครบรอบ 12 ปียุบไทยรักไทย คำถามข้อใหญ่ทำไม เราจริงจังกม.ปราบนักการเมืองขี้ฉ้อ แต่เมื่อไหร่จะจัดหนัก พรรคปล่อยมีโกง?
แม้ว่าสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ชวนให้คิดตามอย่างไม่วางตา โดยเฉพาะพฤติการณ์ของพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มออกอาการลูกผีลูกคนว่าบทบาทในสภาจะเป็นอย่างไรต่อไป และแน่นอนว่าใครก็ต่างรู้เช่นเห็นไส้กันเป็นอย่างดีว่า มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากพรรคไทยรักไทยในอดีต ที่มีออดีตนายกฯ ผู้ถูกตีตราว่าเป็นนักโทษหนีคดีอย่างนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเสมือนนายใหญ่ของพรรค
และในวันนี้ 30 พ.ค. ถือเป็นวันครบรอบ 12 ปี ที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึก จากเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักไทย ที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น โดนคำสั่งจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ยุบพรรคด้วยมติเอกฉันท์ ไม่เพียงเท่านี้ เพราะยังเป็นผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกวินิจฉัย เพิกสอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
สำหรับความเป็นมาของพรรคไทยรักไทยนั้น แต่แรกเริ่มเมื่อปี 2544 ได้ปรากฏชื่อบนสนามการเมืองจากการลงเลือกตั้งครั้งแรก และสามารถกวาดคะแนนเสียงจนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายทักษิณ เป็นนายกฯ
ต่อมาปรากฏว่ามีการยุบพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย จนสามารถคุมเกมในสภาฯได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2548 ก็เป็นอีกครั้งที่พรรคไทยรักไทย ยังคงได้ครองอำนาจ หากทว่าในการบริหารงานของรัฐบาลสมัยที่ 2 กลับเริ่มโชยกลิ่นของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเปิดเผย ทำให้ถูกคัดค้านในสภาและเริ่มมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนักหน่วง
จนในที่สุดเหตุแห่งกาลวิบัติก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยลงสมัคร ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549
การขุดคุ้ยความไม่โปร่งใส และทุจริตของพรรคไทยรักไทยได้ดำเนินขึ้น จนทาง กกต. เห็นว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยกระทำความผิด จึงส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดี
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 หรือที่เรียกว่า "บ้านเลขที่ 111" โดยมีนักการเมืองชื่อดังในขณะนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ได้กำหนดไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แม้ว่านายทักษิณ ต้องมีอันเป็นไปทางการเมือง แต่การพยายาม ควบคุม แทรกแซงและบงการ จากความทะเยอทะยานก็หาได้หมดสิ้นไม่ เพราะพรรคที่เป็นเสมือนตัวตายตัวแทนได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในนามพรรคพลังประชาชน
การพยายามหวังจะวางฐานอำนาจใหม่ของนายทักษิณ มีอันต้องฝันสลายอีกครั้ง เพราะในปี 2551 พรรคพลังประชาขนถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นนอมินี หรือตัวแทนพรรคไทยรักไทย โดยในขณะนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่ง กกต.สรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่า พรรคพลังประชาชน เข้าข่ายเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย แต่ไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดได้
ต่อมา กกต.ได้มีมติให้ใบแดงพรรคพลังประชาชนและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หลังพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย โดยในวันที่ 8 ก.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ 5 ปี พร้อมส่งอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และในวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี
ความกระเสือกกระสนดิ้นแสวงหาอำนาจยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะในปีเดียวกัน พรรคเพื่อไทย อันเป็นอีกพรรควงวานศ์ของ พรรคไทยรักไทยได้ถือกำเนิดขึ้น และได้สร้างวีรกรรมอันอื้อฉาวจากการฉ้อราษฎ์บังหลวงมโหฬารที่ชาวไทยมิอาจลืมเลือน การอาศัยกินบุญเก่าของพรรคเพื่อไทย เผยให้เห็นอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งปี 2554 เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้มีศักดิ์เป็นน้องสาวของนายทักษิณ มาสามารถคว้าเก้าอี้นายกฯ โดยส่วนหนึ่งมาจากบารมีของนายทักษิณที่เคยสั่งสมมาในอดีต
แต่แล้วรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กลับต้องเผชิญมรสุมทางการเมือง จากผลกรรมที่ตนต่อในโครงการรับจำนำข้าว จนบานปลายกลายเป็นวิกฤตการเมือง จนต้องย่ำรอยชะตากรรมตามผู้เป็นพี่ชายไปอีกราย การทุจริตครั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังเข้าสู่การชำระสะสางความผิดที่ตนก่อ โดยทั้งหมดล้วนเป็นบริวารของนายทักษิณ ที่อยู่ภายใต้เรือนชานของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น
เริ่มที่เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2561 รายงานระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรุงเทพฯ องค์คณะพิจารณารื้อฟื้นคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในส่วนของ "พ.ต.นพ.ดร.วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ" หรือ "หมอโด่ง" อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และ "นายสุธี เชื่อมไธสง" จำเลยที่ 16 ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ "นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร" หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ที่สนิทกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ที่สังคมให้ความสนใจเห็นจะเป็นกรณีของนายบุญทรง ที่ดูเหมือนจะกุมความลับที่สำคัญไว้ และกรณีของหมอโด่งจำเลยที่ 3 ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการนายบุญทรง รมว.พาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ ซึ่งจำเลยที่ 3 ยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว
ที่ล่าสุดมีคำวินิจฉัยว่ามีการร่วมวางแผนโดยแอบอ้างนำบริษัทกว่างตงฯ และบริษัทห่ายหนานฯ เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ตามสัญญาซื้อขายข้าวโครงการจีทูจีกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม มีความผิดทั้งหมด 4 กระทงรวมจำคุกทั้งสิ้น 72 ปี เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความฉาวจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคเพื่อไทย ที่หมายกอบโกยผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง มากกว่าจะตอบสนองต่อวิกฤตของชาติใช่หรือไม่..?
โดยที่มิอาจปฏิเสธได้ว่าเนื้อร้ายที่ยังคงแฝงเร้นอยู่ภายในพรรคยังคงปรากฏมีให้เห็น และนั่นเพียงพอที่จะทำให้สังคมเริ่มจะตั้งคำถามแล้วหรือไม่ว่า จะมีหลักประกันอันใดถึงการดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ ว่าจะไม่ชักนำพาประเทศไปสู่วิกฤตอีกครั้ง หรือเป็นไปได้ไหมว่าในอนาคตอาจต้องซ้ำรอยเดียวกับพรรคเทือกเถาอย่างพรรคพลังประชาชน...ก็น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย