- 20 พ.ย. 2560
ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th
"เครือข่ายนายใหญ่" โดนอีก!? ชงยึดทรัพย์ "สมบัติ อุทัยสาง" รวยผิดปกติ 109 ล้าน เรื่องนี้ศาลฯ ตัดสินจำคุก นายสมบัติ 2 เดือน ตั้งแต่ปี 52 พร้อมสั่งปรับ 4,000 บาท แต่โทษคุกให้รอลงอาญา 1 ปี พบเป็นที่ปรึกษา "พรรคไทยรักไทย" และเป็น รมช.มหาดไทยยุค "ทักษิณ 1"
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล นายสมบัติ อุทัยสาง กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ในตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รมช.มหาดไทย และที่ปรึกษา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทั้งในกรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวม 3 ตำแหน่ง 9 บัญชี โดยไม่แสดงบัญชีเงินฝากของตนหรือคู่สมรสที่อยู่ในชื่อของบุตร หรือที่คู่สมรส มีชื่อร่วมกับบุตร 9 บัญชี เพื่อปกปิดจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงของตน ถือเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
โดยต่อมาได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย และศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม 3/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม 8/2552 วันที่ 25 กันยายน 2552 ว่า นายสมบัติ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยเห็นว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ รวม 5 บัญชี ในระหว่างปี 2540 – 2541 รวมเป็นเงิน 112,820,749.77 บาท นายสมบัติ และนางสุจิวรรณ อุทัยสาง ร่วมกันเป็นเจ้าของเงิน และมีคำพิพากษาว่า นายสมบัติ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ นั้น
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายสมบัติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และที่ปรึกษา รมว.ไอซีที ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล ในนามของ นางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรสและบุตร 3 คนที่ นายสมบัติ ไม่ได้แสดงไว้ในการยื่นบัญชีกรณีต่างๆ มียอดเงินฝากคงเหลือ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งเป็นการยื่นบัญชีครั้งสุดท้ายในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.ไอซีที จำนวน 106,291,109.01 บาท โดย นายสมบัติ สามารถพิสูจน์การได้มาของเงินฝากธนาคารดังกล่าวว่าได้มาโดยชอบตามวิถีทางปกติ จำนวน 15,000,000 บาท
ดังนั้น เมื่อนำจำนวนเงินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ จำนวน 91,291,109.01 บาท รวมกับดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นดอกผลทางนิตินัยของเงินฝากดังกล่าวอีกจำนวน 17,283,247.22 บาท มารวมคำนวณแล้ว เห็นว่า นายสมบัติ มีทรัพย์สินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ รวมมูลค่า 108,574,356.23 บาท จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรายการเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในนามของนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรส และบุตร 3 คน ที่สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล เป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมมูลค่า 108,574,356.24 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 80 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยคดีนี้ เมื่อปี 2552 นายเกษม วีรวงศ์ เจ้าของสำนวนคดี พร้อมองค์คณะรวม 9 คน มีมติคะแนนเสียงข้างมาก พิพากษาว่า นายสมบัติ ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษา "พรรคไทยรักไทย" และเป็น รมช.มหาดไทยยุค "ทักษิณ 1" จงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความ อันเป็นเท็จ โดยนายสมบัติไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งมีชื่อภรรยา และบุตร 3 คน เป็นชื่อเจ้าของบัญชีร่วมกัน 9 บัญชี มูลค่า 106 ล้านบาทเศษ ทั้งในขณะรับตำแหน่ง พ้นตำแหน่งภายใน 30 วัน และหลังจากพ้นตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นความผิดตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 263 จึงห้ามนายสมบัติดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และให้จำคุก นายสมบัติ เป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 แต่เนื่องจาก นายสมบัติ ไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อนจึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี