- 24 มิ.ย. 2562
เปิดความเคลื่อนไหวแฉแก้รัฐธรรมนูญ หรือแค่เงื่อนไขปลุกระดม ?!?รู้อยู่แก่ใจเป็นไปไม่ได้ !?!
ดูท่างานนี้มองอนาคตสถานการณ์ทางการเมืองคงต้องวุ่นวายอีกแน่นอน ยากนักที่จะหลีกเลี่ยง เมื่อดูการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่ขณะนี้เริ่มเดินเกมอย่างเป็นระบบ ที่ชัดเจนเมื่อ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) และพรรคพลังปวงชนไทย ได้นัดประชุมและมีแถลงออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจุดพลุแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างสารพัดปัญหา แต่ที่น่าสนใจชวนให้จับตาต่อไปนั่นคือ การลงไปพูดคุยกับประชาชนเพื่อสร้างกระแส ซึ่งเรื่องนี้ถูกตั้งคำถามว่าแท้แล้วคือการลงการเมืองบนท้องถนนใช่หรือไม่??? วันนี้เราจะพิจารณากันว่าข้อสังเกตที่ถูกตั้งมานั้นมีความเป็นไปได้แค่ไหน และอยากจะฟันธงลงไปในทันทีว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย!?!
หลังการประชุม7พรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ได้การตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนขึ้นมาทำงานร่วมกับประชาชน พรรคละ 2 คน มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธาน โดยคณะทำงานจะลงไปประสานกับภาคประชาชน นักวิชาการและส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับประเทศ ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ ส.ส.และส.ว. รวมถึงสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่ความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ ที่กล่าวด้วยว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ไม่มีเจตนาลงไปทำการเมืองบนท้องถนนแบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะทำการเมืองแบบใหม่ที่เชื่อมโยงการทำงานในสภากับนอกสภา เชื่อมโยงการทำงานระหว่างส.ส. กับประชาชน โดยจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นต้องมียุทธวิธี เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาให้แก้ไขยาก พรรคอนาคตใหม่และพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องสร้างความเข้าใจ และสร้างกระแสให้ได้ก่อน ซึ่งจากนี้ต้องไปทำฉันทามติร่วมกับประชาชน เพื่อให้เกิดกระแสกดดันไปถึงสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะไปแก้บางมาตราก่อนเพื่อทำประชามติใหม่อีกครั้งว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้
และยิ่งน่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การเคลื่อนไหวของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้กล่าวช่วงหนึ่งในงานฉลองครบรอบ 1 ปี การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้หัวข้อ “1 ปี อนาคตใหม่ เดินไปด้วยกัน walk with me talk with me” โดยส.ส.ของพรรคเตรียมยื่นญัตติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราเบื้องต้น จำนวน 2 มาตรา คือ 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบของการออกประกาศ, คำสั่ง และการกระทำของคสช.ว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับแนวทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญกำหนด จำเป็นต้องใช้เสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ เสียง ส.ว.ร่วมด้วย ซึ่งส่วนของ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่และ พรรคอื่นๆ จำนวน 7 พรรคจะร่วมขับเคลื่อนได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า ส.ว. อาจไม่สนับสนุนนั้น ขอให้ประชาชนส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. ด้วย
“เมื่อญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขอให้จับตาการอภิปรายของพวกผม จากนั้นขอให้ประชาชน จำนวน 8- 10 ล้านเสียงดูการอภิปราย ส่งสัญญาณไปยังส.ว.เพื่อให้รับฟังเสียงของประชาชน นอกจากนั้นพรรคอนาคตใหม่จะเปิดเวทีทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน ว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราใดบ้าง เพื่อให้เกิดฉันทามติ ต่อการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ต่อไป” นายปิยบุตร กล่าว
สามวันต่อมาคือเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 นายปิยบุตร ได้ออกมาแถลงที่พรรคอนาคตใหม่เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเร่งด่วนในมาตรา 272 เรื่องอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง การใช้อำนาจของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พรรคอนาคตใหม่ยืนยันรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทางประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งฉบับ ไม่อาจแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด จะเดินหน้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
“การเมือง คือ ความเป็นไปได้ จะพยายามผลักดันในทุกช่องทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่ในสภาเท่านั้น แต่ต้องสร้างกระแสและความรับรู้ของสังคมเพื่อทำให้สังคมเกิดฉันทามติร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือ วิกฤติและทางตัน จำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมา ดังนั้น ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการในรัฐสภา พร้อมๆ กับรณรงค์กับประชาชน เพื่อสร้างฉันทามติให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยผ่านโครงการสภาร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต่อไป”
คำถามที่ส่งเสียงตามมาคือ จะต้องใช้จำนวนเสียงเท่าไหร่ในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และลำพัง7พรรคพันธมิตรฝ่ายค้านจะมีจำนวนเสียงในการผลักดันพอหรือไม่ ซึ่งหากเหลียวมองไปที่ฝั่งตรงข้าม นั่นคือขั้วพรรคร่วมรัฐบาลที่มีท่าทีในการอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ชัดเจนมา โดยเฉพาะช่วงต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงผลการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหาร และ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอ และได้รับการตอบรับทั้ง 3 ข้อในการเข้าร่วมรัฐบาล และหนึ่งในนั้น ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง มีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลโดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ การสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อคหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้” นายจุรินทร์ กล่าว
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามไม่ตอบคำถามในเรื่องจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังพรรคประชาธิปัตย์โยนออกมาว่า ตนเองไม่มีจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อเรียกร้องในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมองว่าเป็นเรื่องของกฎหมายและเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งนี่นคือท่าทีของนายกฯที่ไม่ถึงกับปฏิเสธแต่ก็ไม่เชิงตอบรับเสียทีเดียว???
กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและดูเหมือนว่า ทุกพรรคต่างรับรู้กันดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี2560นี้นั้นสามารถจะทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องฝ่าด่านหินถึง 4 ขั้น
1.คือการแก้ไขจะต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป)
2.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของรัฐสภา (ส.ส. 500 คน + 250 ส.ว. = 750) คือ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง
3.การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก
และ4.ในโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 376 เสียง และจะต้องมีเสียง ส.ส.จากทุกพรรคในสภาเข้ามาร่วมโหวตแก้ไข แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านต้องเห็นชอบด้วย ถ้าขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไปอาจทำให้ญัตติล่มได้
ฉะนั้นจะเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่า เส้นทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสาหัสเพียงใด แม้จะไปลากเอาเสียงของฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 53 เสียง นำมารวมกับฝ่ายค้านที่มี 245 รวมทั้งเสียงของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิวัติหน้าที่มารวมก็จะได้เพียง 298 เสียง ในขณะต้องใช้ 376 เสียง นั่นคือต้องเอาเสียง ส.ว.มาร่วมด้วย แต่ถามว่า 250ส.ว.เป็นอย่างไรในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็เห็นกันแล้ว ดังนั้นการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายก็มองเป็นอย่างอื่นเสียมิได้ว่านี่คือการนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวนอกสภา เพื่อหวังปลุกระดมเพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่า อย่างไรก็ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ???