- 02 ก.ค. 2562
ยาวไปพี่น้อง!!! ครม.ยังไม่ถก “ขยายอายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี” เหตุผลก็ชัดอยู่...ไม่ต้องถามทำไม??
@ตามติดต่อเนื่องกับเหตุกรณีบอร์ดการทางพิเศษฯ มีมติเห็นชอบต่ออายุสัมปทานทางด่วนให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า หรือ BEM ออกไปอีก 30 ปี โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องมูลหนี้ที่การทางพิเศษฯต้องชดใช้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
ล่าสุดสหภาพการทางพิเศษฯ ตัดสินใจเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกรอบ เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการนำเรื่องการต่อระยะเวลาสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปก่อน เนื่องจากมติคณะกรรมการ กทพ. ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมายังไม่มีการรับรองมติ และปัจจุบันคณะกรรมการ กทพ. ก็ยังมีการแก้ไขมติดังกล่าวอยู่
อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็เพิ่งยื่นญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาค่าโง่ทางด่วน ที่เกิดจากการบริหารงานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ “BEM” เพื่อทำให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างรอบคอบ ชัดเจน โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561
@ย้ำชัด ๆ ในรายละเอียด ที่ถูกนำส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ มีสาระสำคัญดังนี้
ประเด็นสำคัญที่ถูกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ ข้อกังขาสำคัญ ว่าด้วยทำไมต้องขยายอายุสัมปทานถึง 30 ปี โดยนำเรื่องเงินชดเชย ข้อพิพาทมาเป็นข้ออ้าง โดยที่จำนวนเงินความเสียหาย 1.37 ล้านบาท ก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความฟ้องร้อง โดยบางคดีอยู่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่อาจจะทราบผลได้ว่าโจทก์ หรือ จำเลย เป็นผู้ชนะคดี
@ ไล่เรียงข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ กับ BEM ประกอบด้วยข้อเท็จจริง เรียงลำดับ ดังนี้
1.คดีศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว มูลค่า 4,318.1 ล้านบาท
2.คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด มูลค่า 6,332.5 ล้านบาท
3.คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง มูลค่า 7,226.8 ล้านบาท
4.คดีที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ BEM ชนะแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อ มูลค่า 12,050.5 ล้านบาท
5.คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตโอตุลาการ มูลค่า 35,986.8 ล้านบาท
ข้อพิพาท 1-5 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 65,914.7 - 3,757.6 ล้านบาท
6.คดีที่เตรียมยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ ยังไม่ได้เรียกร้อง มูลค่า 75,473.2 ล้านบาท
รวมเบ็ดเสร็จประเด็นข้อพิพาท ระหว่างการทางพิเศษฯ กับ BEM ถูกประเมินไว้ว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 137,096.8 ล้านบาท และนี่กลายเป็นข้ออ้างว่ามีความจำเป็นที่การทางพิเศษต้องยืดอายุสัมปทานทางด่วน จำนวน 30 ปี
@ ยังไม่จบเท่านั้น สิ่งที่สหภาพฯการทางพิเศษ ชี้แจงต่อพล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้ให้เห็นอีกบางแง่มุม ที่ถูกสื่อให้เห็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ภาคเอกชน
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของข้อเร้องเรียนจากสหภาพการทางพิเศษฯ ยังมีการระบุถึงกรณีที่ บอร์ด กทพ. ได้ไปทำข้อตกลงพิเศษกับบริษัท BEM ในการให้สัญญาสัมปทานการสร้างทางด่วน 2 ชั้น หรือ คร่อมทางด่วนชั้นที่ 2 รวมทั้งได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนธุรกิจ โดยไม่ต้องเปิดประมูล
ประการสำคัญคือ ร่างสัญญาที่บอร์ดการทางพิเศษฯ ทำกับ บริษัท BEM ได้มีการส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา และอัยการสูงสุดก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังบอร์ดการทางพิเศษฯแล้วด้วย
ส่งผลทำให้สามารถส่งร่างสัญญาฉบับดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อทำการอนุมัติการเซ็นสัญญาต่อไปได้ ขอจึงเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาไม่เร่งรีบพิจารณาวาระการต่อสัญญาสัมปทานไปอีก 30 ปี ให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BEM จนกว่าจะได้มีการศึกษาจากสภานิติบัญญัติอย่างรอบคอบต่อไป
@ เพื่อความชัดเจนครบถ้วน เราจะไปดูแง่มุมความเห็นประกอบในเรื่องนี้
โดยเฉพาะกับการแสดงความเห็นของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.ซึ่งติดตามประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น
เริ่มจาก 30 มกราคม 2562 ดร.สามารถ ออกมาโพสต์เตือนเรื่องการต่ออายุสัมปทานทางด่วนในช่วงแรก ที่มีการพูดถึงตัวเลข 37 ปี โดยเน้นย้ำให้การทางพิเศษฯและผู้เกี่ยวข้อง ย้อนกลับไปดูให้ชัด ๆ ว่า
1. ค่าชดเชยจำนวน 137,515.6 ล้านบาท ที่การทางพิเศษฯ จะต้องไปจ่ายให้ BEM นั้นประเมินาได้อย่างไร และใครเป็นผู้ประเมิน เพราะในขณะนั้น การทางพิเศษ ยังไม่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา
2. เหตุใดบอร์ด การทางพิเศษฯ จึงยินยอมที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ BEM เป็นเงินจำนวนมากถึง 137,515.6 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ หลายคดีศาลยังไม่ได้ตัดสินและ/หรือยังไม่มีการฟ้องร้อง
3. เหตุใดบอร์ด การทางพิเศษฯ จึงเห็นชอบให้ต่อสัญญาให้ BEM เป็นเวลานานถึง 37 ปี และในช่วงระยะเวลา 37 ปี ซึ่งปริมาณรถบนทางด่วนจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี BEM จะมีรายได้จากค่าผ่านทางเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าชดเชย 137,515.6 ล้านบาท รวมกับเงินลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 14 กิโลเมตร วงเงิน 31,500 ล้านบาท ที่ BEM จะสร้างให้การทางพิเศษฯก็ได้
ถัดมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ดร.สามารถ ก็แสดงความเห็นเน้นย้ำให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้ารัฐบาลและการทางพิเศษฯดึงดันจะให้มีการขยายอายุสัมปทานทางด่วนอีก 30 ปี
@ โดยหนนี้ ดร.สามารถอธิบายให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ ว่า คุ้มหรือไม่ที่การทางพิเศษฯจะต่ออายุสัมปทานให้ BEM
ดร.สามารถ ย้ำว่า BEM ได้ร่วมทำงานกับการพิเศษฯ มาตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา และในการร่วมงานก็มีเหตุข้อพิพาทเกิดขึ้น 17 ข้อ แยกเป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย (1) การขึ้นค่าทางด่วน ซึ่ง BEM กล่าวหาการทางพิเศษฯ ว่าขึ้นค่าทางด่วนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา (2) มีการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์มาแข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ทำให้บีอีเอ็มได้รับรายได้จากค่าทางด่วนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
และ (3) การทางพิเศษฯ กล่าวหา BEM ว่าไม่ขยายช่องจราจรบนทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
@ ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ข้อพิพาททั้งหมด สมควรหรือไม่ที่การทางพิเศษฯต้องยินยอมตามข้อเสนอของ BEM
ดร.สามารถ ระบุชัดเจนว่า ข้อพิพาททั้งหมด มีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดีและให้จ่ายเงินชดเชยให้ BEM เป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท สืบเนื่องจากมีการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตมาเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน
ส่วนข้อพิพาทที่เหลืออีกจำนวน 16 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 3 ข้อพิพาท ขั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 9 ข้อพิพาท และข้อพิพาทที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4 ข้อพิพาท
ไฮไลต์ที่เป็นปัญหาก็คือ มีการประเมินโดยผู้เกี่ยวข้องในการทางพิเศษฯ ว่าในจำนวนข้อพิพาทที่เหลือ 16 ข้อพิพาท มีเพียง 2 ข้อพิพาทเท่านั้นที่การทางพิเศษฯ จะชนะคดี ส่วนที่เหลืออีก 14 ข้อพิพาท การทางพิเศษฯจะแพ้ทั้งหมด ทำให้การทางพิเศษฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเพิ่มขึ้นอีก 133,197.2 ล้านบาท รวมเป็น 137,515.6 ล้านบาท ต่อมามีการเจรจาต่อรองทำให้เงินชดเชยลดลงเหลือ 64,953 ล้านบาท หรือลดลงถึง 53%
ดังนั้นหากการทางพิเศษฯ ไม่ต้องการจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็ม การทางพิเศษฯ จะต้องขยายเวลาสัมปทานให้ BEM แทน ซึ่งจะต้องขยายให้ถึง 37 ปี มาถึงเวลานี้ลดลงเหลือ 30 ปี โดยอ้างว่า BEM ยอมลดเงินชดเชยให้อีก ทำให้เหลือเงินชดเชย 59,853 ล้านบาท
@ ย้ำช้า ๆ ชัดๆ ดร.สามารถ ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ณ วันนี้ การทางพิเศษฯ แพ้คดีแน่นอนแล้วเพียง 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการคาดการณ์เอาเอง
ดร.สามารถ อธิบายประเด็นนี้ว่า สถารการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เงินชดเชยทั้งหมด 59,853 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินชดเชยที่การทางพิเศษฯ จำเป็นต้องชดใช้ให้กับ BEM เพียง 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการคาดการณ์ว่าการทางพิเศษฯ มีโอกาสจะแพ้คดี ซึ่งถ้าคิดในทางตรงข้าม หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หรื อการทางพิเศษฯ ชนะคดีเพิ่มขึ้น การต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นเวลาถึง 30 ปี จะทำให้การทางพิเศษฯ เสียเปรียบอย่างยิ่ง
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ดร.สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีนี้บอร์ดการทางพิเศษฯก็ไม่ได้เห็นชอบกับแนวทางที่เป็นมติให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 30 ปี เพราะเห็นว่า ไม่ควรนำหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ และทำไมบอร์ดเสียงส่วนใหญ่จึงให้น้ำหนัก คิดไปก่อนหน้าว่าการทางพิเศษฯจะแพ้คดี เลยยอมทำตามเงื่อนไขของ BEM ซึ่งก็เป็นประเด็นน่าค้นหาว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงไม่คัดค้าน
@อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ดังนั้นจึงยังต้องติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปเรื่องการต่ออายุสัมปทานทางด่วนให้กับ BEM จะจบลงไหน แบบไหน อย่างไร จากการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา