- 25 ก.ย. 2562
เป็นประเด็นการเมือง Talk of The town ต่อเนื่อง สำหรับกรณีการปล่อยกู้เงินจำนวนกว่า 190 ล้าน ให้กับพรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ หัวหน้าพรรคพรรคการเมืองที่ตนเองได้ร่วมก่อตั้งขึ้น และมีการตีความว่าเป็นเงื่อนไขปฏิบัติที่ไม่ตรงกับข้ออนุญาต ที่บัญญัติไว้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ยังยืนยันว่า สามารถทำได้ เนื่องจากบทบัญญัติไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการกู้เงิน และการกู้เงินก็ไม่ถือว่าเป็นรายได้ แต่เป็นหนี้สิน
เป็นประเด็นการเมือง Talk of The town ต่อเนื่อง สำหรับกรณีการปล่อยกู้เงินจำนวนกว่า 190 ล้าน ให้กับพรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ หัวหน้าพรรคพรรคการเมืองที่ตนเองได้ร่วมก่อตั้งขึ้น และมีการตีความว่าเป็นเงื่อนไขปฏิบัติที่ไม่ตรงกับข้ออนุญาต ที่บัญญัติไว้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ยังยืนยันว่า สามารถทำได้ เนื่องจากบทบัญญัติไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการกู้เงิน และการกู้เงินก็ไม่ถือว่าเป็นรายได้ แต่เป็นหนี้สิน
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว ก่อนจะกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงว่าทำได้หรือไม่ได้ และผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องย้ำว่าไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เกิดขึ้นจากการที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นคำร้องต่อกกต.ให้ตรวจสอบว่าวิธีการที่ พรรคอนาคตใหม่ กระทำร่วมกับ นายธนาธร เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ เนื่องจาก "ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 ไม่มีข้อความใด ระบุให้พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงิน
นอกจากนี้ การที่นายธนาธร ระบุในสัญญาเงินกู้ กำหนดให้พรรคอนาคตใหม่ ชำระเงินกู้ตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ย โดยแบ่งการชำระเป็น 3 งวด ปีแรก 80 ล้าน ปีที่สอง 40 ล้าน และปีที่สาม 41.2 ล้านบาทนั้น เป็นกรณีการกระทำที่อาจขัดแย้งกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 87 เนื่องจากพรรคการเมืองไม่สามารถนำเงินและทรัพย์สินของพรรคไปชำระหนี้การกู้ยืม
ด้วยข้อกฎหมายกำหนดไว้ชัดว่าเงินของพรรคการเมือง ต้องนำไปใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคและสมาชิก หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมืองเท่านั้น ดังนั้น หากพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี เท่ากับว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว อาจล้มละลายสิ้นสภาพพรรคการเมืองได้
และนี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุม เพราะถ้ากกต.เห็นว่าการกระทำของนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิด ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 125 คือ มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบการลงโทษ โดยการถูสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองอีกด้วย
@ต้องย้ำอีกรอบว่า โดยเงื่อนไขที่มาของเงินเพื่อใช้ในกิจการพรรคการเมือง ระหว่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กับปี 2550 มีเงื่อนไข และรายละเอียดแตกต่างกัน ที่ไม่อาจให้พรรคอนาคตใหม่ นำไปเปรียบเทียบได้ว่า ทำไมพรรคการเมืองอื่นกู้ได้ แต่พอพรรคอนาคตใหม่ทำกลายเป็นความผิด
ยกตัวอย่างเอกสารที่พรรคอนาคตใหม่ นำกรณีของพรรคภูมิใจไทยมากล่าวอ้างก็เป็นเอกสารของปี 2554-2555 เช่นเดียวกับกรณีของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่หยิบมาเปรียบเทียบ ก็ยิ่งอาจทำให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้อย่างครบถ้วน หรือไม่ อย่างไร
ด้วยเหตุผลของความจำเป็นเร่งด่วน ที่กล่าวอ้างในเพจเฟซบุ๊กของพรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ว่า "พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินกับธนาธร โดยมีวงเงินไม่เกิน 250 ล้านบาท ซึ่งจนถึงต้นเดือนเมษายน พรรคกู้ไปแล้ว 90 ล้านบาท และกลางเดือนพฤษภาคมกู้ไปแล้วรวมประมาณ 110 ล้านบาท
ทั้งนี้พรรคจำเป็นต้องกู้เงิน เนื่องจากพรรคมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของพรรคเกินรายได้ที่พรรคสามารถหาได้ เช่น การบริหารจัดการสำนักงานพรรคทั่วประเทศ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การหาสมาชิก ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่พรรค และกิจกรรมของพรรค ฯลฯ ในขณะที่ยังไม่สามารถหารายได้ให้เพียงพอ
ดังนั้นประเด็นต้องพิจารณาต่อไป นอกเหนือจากช่องทางการนำเงินเข้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีข้อโต้เถียงว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ อ้างว่าไม่ใช่รายได้ แต่เป็นเงินกู้ จึงไม่เข้าข่ายตามองค์ประกอบกฎหมายกำหนด ต้องยึดเอาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 เป็นหลักปฏิบัติ
ก็คือ เงินของพรรคการเมือง สามารถนำไปปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขใดได้บ้าง ดร.รุจิระ บุนนาค จากสำนักงานกฎหมาย มารุต บุนนาค อินเตอร์เนชั่นแนล ลอร์ ออฟฟิศ ได้เคยอธิบายแง่มุมทางกฎหมาย ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ระบุว่า "กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาตรา 66 ระบุไว้ว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้าน บาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไป หลังจากบริจาคแล้ว พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
เจตนารมณ์ดังกล่าวของกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่บริจาค หรือ ให้เงินแก่พรรคการเมืองหนึ่งพรรคใด มีอำนาจเหนือหรือมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองนั้น ในการดำเนินงานหรือทำกิจกรรม ทางการเมืองใดๆ
จึงได้มีคำถามต่อมาว่า นายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่ กู้เงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินส่วนตัว หรือเงินบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น เป็นการให้กู้ยืมเงินจริงๆ หรือไม่ หรือ เป็นการ บริจาคเงินหรือให้เงินแก่พรรค แบบให้เปล่า แต่ทำเป็นสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางกันแน่
หากเป็นการให้กู้ยืมเงินกันจริง ย่อมมีคำถามตามมาอีกว่า พรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคนี้ ใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งอย่างไร เป็นค่าอะไร ทำไมถึงเป็นจำนวนมากขนาดนี้ และเป็นจำนวนเงินมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ทั้งที่ตามกฎหมาย พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 35 ล้าน บาทเท่านั้น และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาแทนราษฎรต้องใช้เงินหาเสียงไม่เกิน 1.5 ล้านบาท"
@ถือเป็นมุมมองทางกฎหมายที่เน้นย้ำว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีเจตนาชัดในการควบคุมช่องทางการไหลเข้าของเงิน ต่างจากกฎหมายในยุคผ่านมา ทีนี้เราจะไปดูว่าเงินของพรรคการเมือง กฎหมายได้กำหนดอะไรไว้อย่างไร ในส่วนที่ทำได้และไม่ได้
เนื่องจากปรากฎว่าในเอกสารที่ปรากฎเป็นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีบันทึกหมายเหตุตอนท้ายว่า ในยอดเงินกู้ยืมยอดแรก จำนวน 161,200,000 บาท ระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับ นายธนาธรผู้ให้กู้ยืม ทางพรรคอนาคตใหม่ได้ดำเนินการชำระหนี้บางส่วนให้แก่นายธนาธรแล้ว ส่วนเงินกู้อีก 30,000,000 บาท พรรคอนาคตใหม่พึ่งได้รับกู้มาจากนายธนาธรแล้วจำนวนหนึ่ง
ขณะที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 7 ว่าด้วยการใช้จ่ายของพรรคการเมือง มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
มาตรา 87 เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนําไปใช้จ่าย เพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง
พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่าย ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าในรูปแบบใด ให้สมาชิกและประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา 88 ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลใดให้เงินทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจําหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 หรือมาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกําหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
ห้ามมิให้สมาชิกซึ่งดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคลใดโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เว้นแต่เงินที่ได้มการแจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 89 ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่จะต้องตรวจสอบ และควบคุมมิให้มีการนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กําหนดไว้ ในมาตรา 84 มาตรา 87 และมาตรา 88
@ประเด็นทางข้อกฎหมาย ว่าด้วยการใช้จ่ายของพรรคการเมือง จึงเป็นอีกจุุดขัดแย้งกับข้อกฎหมายในสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กระทำ จากข้อมูลของนายธนาธรเอง ที่ระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ ได้นำเงินของพรรคมาชำระหนี้บางส่วนจากเงินกู้ยืมจำนวน 161,200,000 บาท แล้ว
เนื่องจากเงินที่พรรคอนาคตใหม่นำไปชำหนี้เงินกู้ให้กับนายธนาธร ไม่ให้รายละเอียดว่าเป็นเงินจากส่วนไหน ขณะที่ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ค่อนข้างเคร่งครัด เกี่ยวกับการนำเงินของพรรคการเมืองไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง
อาทิ มาตรา 84 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เงินที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามมาตรา 83 (เงินกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง) ให้ใช้เพื่อประโยชน์ ในการหาเสียงเลือกตั้ง การจัดทํากิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดตามมาตรา ๒๓ การพัฒนาพรรคการเมืองและสมาชิก ให้มีคุณภาพและคุณธรรมอันดีงาม และการส่งเสริมความรู้แก่สมาชิกและประชาชนในทางการเมือง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการอื่นใดที่คณะกรรมการกําหนด และเมื่อใช้ไปเพื่อการใดแล้ว ให้จัดทํารายงานให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการจัดสรร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด แต่จะนําไปใช้จ่ายตามมาตรา 88 ไม่ได้
นอกจากนี้ในมาตรา 78 (6) ยังระบุด้วยซ้ำว่า กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่พรรคการเมือง ได้มาโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งกรณีของเงินกู้ที่พรรคอนาคตใหม่ได้มา จะถูกนำมารวมอยู่ด้วยหรือไม่ เป็นหนึ่งข้อต้องพิจารณาในแง่มุมกฎหมาย
เพราะตามมาตรา 132 ระบุไว้ว่า "หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิก พรรคการเมืองผู้ใดนําหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนําไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง หรือ นำไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือที่เขียนกำหนดไว้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
@ย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการไล่เรียงข้อมูลเพียงบางส่วน เพื่้อพิจารณาประกอบความถูกต้อง ในกรณีการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ จากนายธนาธร ผู้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งนาทีนี้มีสถานะเป็นนายทุนของพรรคเต็มตัว ส่วนจะถูกกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องต้องติดตามด้วยความระทึก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ส.ส.เพื่อไทย ต่อยกันยับ ในห้องหัวหน้าพรรค
-เปิดทุกปมความจริง คดียุบพรรค “อนาคตใหม่” หลัง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ พรรณิการ์” ผนึกกำลัง...บลั๊ฟศาลรธน.??
-“ยิ่งลักษณ์” โพสต์ส่งกำลังใจ คนไทยเผชิญน้ำท่วมปี 62 ภาพ “เอาอยู่” ผุดขึ้นมาทันที 8 ปีแล้ว ยังไม่มีใครทุบสถิติทำเสียหาย??
-มาดามเดียร์ ลั่น เอาจริงเรื่องแก้ปัญหาน้ำ ไม่ใช่ดีแต่พูด กรีดฝ่ายค้านมัวแต่ยุ่งปมถวายสัตย์ ไม่ช่วยเหลือ ปชช.เดือดร้อน