- 30 มี.ค. 2563
ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุด แอมเนสตี้ฯ วิพากษ์วิจารณ์ทิศทางเดียวกับพรรคฝ่ายค้าน
ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 ประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อม ๆ กันกับกระแสตำหนิการทำงานของรัฐบาลในบางด้าน ซึ่งเกี่ยวโยงกับลักษณะการตัดสินใจเพื่อควบคุมปัญหาก่อนหน้านั้น ก็คือ มุมมองของพรรคฝ่ายค้านที่มีมาโดยตลอด เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองโดยตรง ทั้ง ๆ ที่มีเหตุจำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากคนไทยทุกฝ่าย ในการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อช่วยเหลือประชาชน
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : เพื่อไทยออกแถลงการณ์ไล่บี้รัฐ ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ปัญหาโควิดต้องจบเร็ว "วัฒนา" ไปไกลอย่าฉวยโอกาส)
ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ได้โพสต์บทความ วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีรายละเอียดบางช่วงตอนระบุว่า "เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการประกาศพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) โดยประกาศว่าสิ่งใดที่ประชาชนควรทำ (Do) และสิ่งใดที่ไม่ควรทำ (Don’t) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป เพื่อเป็นไปตามการคุ้มครองในสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน แอมเนสตี้ี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงอยากชวนมาดูว่า แล้วอะไรบ้างคือสิ่งที่รัฐบาลควรทำและไม่ควรทำในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้"
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่า "การประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินในครั้งนี้กำลังจะให้อำนาจมากมายแก่รัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการ COVID-19 แต่จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายครั้งที่ผ่านมา เรายังคงเห็นการจัดการกับผู้เห็นต่างหรือผู้วิพากษ์วิจารย์การทำงานของภาครัฐอยู่ด้วย แอมเนสตี้ ประเทศไทยจึงอยากย้ำอีกครั้งว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ รัฐบาลควรใช้อำนาจอย่างไรให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน"
รวมถึงมีข้อเสนอดังนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ คำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่ม ก่อน “ความมั่นคงของชาติ” ความมั่นคงของชาติ ไม่เท่ากับ “ความมั่นคงของมนุษย์” ความมั่นคงของชาติในทัศนคติของรัฐบาลที่นำโดยอดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นเรื่องภัยคุกคามสมัยอดีตมากกว่า เช่น สงครามโลก หรือสงครามเย็น ที่มีการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังทหารของนานาประเทศด้วยอาวุธสงคราม เจ็บและล้มตายด้วยอาวุธ
ขณะที่ภัยคุกคามในสมัยปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่คือ โรคระบาด ในสถานการณ์นี้มิติทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง? การทำงานที่บ้าน (work from home) เป็นไปได้สำหรับบางอาชีพหรือเปล่า? เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานทำความสะอาดประจำออฟฟิศ พนักงานส่งของ หรือคนงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนไร้บ้าน รัฐมีมาตรการอย่างไรในในการคุ้มครองกลุ่มบุคคลเหล่านี้
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องรัฐบาลยอมให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับจัดการ COVID-19 ของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นและต้องยอมรับว่า “คุณหยุดให้คนวิจารณ์ไม่ได้” ประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศเลือกมา รวมถึงสนับสนุนให้สื่อมวลชน เผยแพร่ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพื่อเติมเต็มความครบถ้วนของข้อมูล เนื่องจากสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประชาชนรู้สึกไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับทราบข้อมูลที่จำเป็นอย่างไม่เพียงพอ
ขณะเดียวยังควรกำชับให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานโดยไม่เพิ่มความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร เนื่องด้วย มาตรา 9 วรรคสอง ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีอาจกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินเหตุสมควร แปลว่าหากประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ (มาตรา 17)
ตอนท้าย แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องในสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ประกอบด้วย อาทิ หลีกเลี่ยงใช้เจ้าหน้าที่ทหารในงานที่เขาไม่มีประสบการณ์หรือไม่เชี่ยวชาญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารอาจได้รับคำสั่งให้ตรวจค้นบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ติดเชื้อไวรัสหรือบุคคลที่รัฐบาลกล่าวหาว่ากำลังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง
รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับพลเรือน ไม่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) ของประชาชน หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีความอ่อนไหวในเรื่องดังกล่าว อาจยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้สาธารณะได้
ประเด็นสำคัญ แอมเนสตี้ฯ ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลต้องไม่ข่มขู่ จับกุม หรือดำเนินคดีกับคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้าง “ข่าวปลอม” แต่รัฐบาลมีหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ แม้ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะให้อำนาจดำเนินคดีกับผู้เสนอข่าวบิดเบือนได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรใช้อำนาจนี้อย่างระมัดระวัง การติดป้าย “ข่าวปลอม” ให้กับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ จะยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้สาธารณะ
และต้องกวดขันไม่ให้เกิดการทรมานในระหว่างการควบคุมตัว เนื่องจากพ.ร.ก. ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐควรมีขั้นตอนการปฏิบัติ ที่ทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เขาจะไม่ถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจในระหว่างการควบคุมตัว ดังเช่นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนโดยไม่จำเป็น เพราะเป้าหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในครั้งนี้คือเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้อำนาจให้สอดคล้อง กับเป้าหมายของภารกิจโดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปดูบทบาทของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าเป็นองค์กรที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตตลอด ว่ามักจะออกมาแสดงความเห็น คู่ขนานไปกับพรรคการเมือง ที่มีความคิดเห็นไปในทางตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ บุคคลที่ทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ฯ ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงและอ้อม ทางงการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง และ "ระบอบทักษิณ"
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : เพจดังแฉ!! "กรรมการแอมเนสตี้" กับผู้คนรอบตัว ทั้ง"คณะราษฎร-นักการเมือง-ทูต" มาทั้งเครือข่าย ครบจบในโพสต์เดียว!!)