- 06 ก.ย. 2561
โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาชาวอังกฤษได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีความป่าเถื่อน และเห็นแก่ตัว แต่เมื่อพบกับความทุกข์ยาก มนุษย์จะลดความเห็นแก่ตัว และสังคมจะช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น
โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาชาวอังกฤษได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีความป่าเถื่อน และเห็นแก่ตัว แต่เมื่อพบกับความทุกข์ยาก มนุษย์จะลดความเห็นแก่ตัว และสังคมจะช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่เพราะจากสภาพแวดล้อมของสังคมไทยทุกวันนี้ ราวกับจะบีบคั้นให้ผู้คนในสังคมต้องเกิดการแข่งขันแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น จนเป็นที่มาของ ปัญหาอาชญากรรม ที่มีให้เห็นอยู่แทบไม่เว้นแต่ละวัน
เมื่อกำแพงของศีลธรรมถูกทำลายลง แรงขับเคลื่อนจากสัญชาติญาณดิบและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์จึงเผยออกมาให้เห็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นบทลงโทษที่เด็ดขาดและรุนแรง จึงเปรียบเสมือนเป็นการตีกรอบให้มนุษย์ในสังคมอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งกันและกัน
ชีวิตต้องชดใช้ด้วยชีวิต อาจเป็นคำที่ฟังดูโหดร้ายในสังคมที่มีความประนีประนอมเป็นเอกลักษณ์ จากกรณีโทษประหารชีวิต ที่สร้างข้อถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน ว่าแท้จริงแล้ว เป็นการละเมิดซึ่งสิทธิมนุษยชน และปิดกั้นโอกาสให้ผู้กระทำผิดกลับตัวกลับใจหรือไม่ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะต่อโทษประหารชีวิตว่า เป็นการสมควรที่ประเทศไทยยังต้องมีการลงโทษในลักษณะนี้ เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดได้ออกมากระทำการซ้ำสองอีก และเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเลียนแบบหรือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง การลดหย่อนโทษจึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ในอดีตการประหารด้วยการยิงเป้าดูจะเป็นภาพที่อุจาดตา และยังสร้างความทรมานอย่างแสนสาหัสแก่นักโทษ ในกรณีที่เพชรฆาตมือไม่แม่นพอ เป็นเหตุให้นักโทษไม่เสียชีวิตในทันที แต่ในปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้วิธีประหารด้วยการฉีดสารพิษ ที่ดูจะเป็นการหยิบยื่นมนุษยธรรมให้แก่นักโทษในช่วงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เท่าที่จะทำให้ได้
แต่ล่าสุด 6 ก.ย. 2561 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต ด้วยการยกร่าง พ.ร.บ การใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
เกือบ 10 ปีที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการประหารชีวิตนักโทษ จวบจนกระทั่งวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ประหารนักโทษรายล่าสุดด้วยการฉีดสารพิษ คือ นักโทษชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี นักโทษเด็ดขาดคดีฆ่าผู้อื่นเพื่อชิงทรัพย์เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555
เหตุการณ์สะเทือนขวัญในครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตรังได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุฆาตกรรมภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เขตเทศบาลเมืองตรัง จ.ตรัง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบศพนายดนุเดช สุขมาก อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 มีบาดแผลถูกทำร้ายและแทงด้วยมีดรวม 24 แผล มีเลือดออกมาก
จากการสืบสวนทราบต่อมาว่า ผู้ตายถูกวัยรุ่นชาย 2 คน ไล่ทำร้ายและใช้มีดไล่แทงมาจากบริเวณหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ห่างจากจุดพบศพประมาณ 200 เมตร โดยวิ่งหนีเข้ามาในสวนสาธารณะแห่งนี้ จากคำให้การของแฟนสาวผู้ตาย ระบุว่าตนนั้นพยายามเข้าช่วยเหลือ และขอให้คนช่วย ส่วนผู้ก่อเหตุคือนายธีรศักดิ์ ซึ่งขณะนั้น อายุ 19 ปี อยู่ในสภาพมึนเมา ได้แทงผู้ตายกว่า 24 ครั้ง ก่อนที่จะนำกระเป๋าเงิน ที่มีเงินประมาณ 2,000 บาทหลบหนีไป แต่ถูกตามจับกุมตัวพร้อมของกลางได้ในที่สุด
ภายหลังตรวจสอบประวัติอาชญากรรม มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ระบุว่า นายธีรศักดิ์ เคยมีคดีความหลายข้อหาติดตัวทั้ง ข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืน รวมถึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นอีกด้วย ส่วนผู้ร่วมก่อเหตุในคดีอุกฉกรรจ์ครั้งนี้ถูกดำเนินคดีตามกระบวนกฏหมายเช่นกัน
สำหรับขั้นตอนการฉีดยาด้วยสารพิษนั้นประกอบด้วย สารพิษที่ใช้ในการประหารนักโทษจะใช้สารโซเดียนเพนโททัล สารแพนคูไรเนียมโบรไมค์ และสารโพแทสเซี่ยมคลอไรด์ เมื่อจัดเตรียมสารพิษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการเบิกตัวนักโทษจากห้องควบคุมภายในแดน เพื่อนำตัวไปที่ศาลาเย็นใจและจะมีพี่เลี้ยงนักโทษคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
เมื่อถึงศาลาเย็นใจ จะมีการตรวจสอบประวัติ รอยนิ้วมือ รวมถึงตำหนิบนร่างกายเพื่อยืนยันว่าเป็นนักโทษที่มีคำสั่งประหารชีวิตจริง หลังจากนั้นจะให้นักโทษเขียนจดหมายรวมถึงพินัยกรรม และเปิดโอกาสให้โทรศัพท์สั่งเสียครอบครัวเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหากเป็นสมัยที่ใช้วิธีประหารแบบยิงเป้าจะไม่มีการให้ใช้โทรศัพท์อย่างเด็ดขาด
เมื่อนักโทษมาถึงห้องประหาร นักโทษจะได้รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ตามที่ร้องขอ ซึ่งโดยปกติหากรายการอาหารที่นักโทษต้องการ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะหาให้ได้ นักโทษจะได้รับประทานตามที่ต้องการพร้อมกันนั้นพี่เลี้ยงจะชวนคุยเพื่อให้นักโทษคลายความตึงเครียด เมื่อรับประทานเสร็จสิ้นนักโทษจะได้ฟังเทศนาธรรมจากพระสงฆ์ และถวายดอกไม้ธูปเทียน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา ในกรณีที่นักโทษนับถือศาสนาอื่น ก็จะให้ประกอบพิธีกรรมตามแต่ศาสนาของตน
จากนั้นพี่เลี้ยงจะให้นักโทษนอนลงที่เตียงประหาร และใช้เข็มขัดรัดตัวที่ข้างเตียงประหารจะมีเครื่องตรวจจับสัญญาณเต้นของหัวใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฉีดยาและสารพิษจะต่อสายติดเข้าที่ร่างกายของนักโทษ ที่จอมอนิเตอร์จะเห็นสัญญาณการเต้นของหัวใจ บริเวณหัวเตียงประหารจะมีห้องหน้าต่างกระจกบานใหญ่หนึ่งห้อง เหนือกระจกจะมีไฟสีเขียวสีเหลืองและสีแดงติดอยู่ ภายในห้องหน้าต่างกระจกจะมีการต่อสายน้ำเกลือจากห้องออกไปที่เตียงประหาร ที่ปลายสายน้ำเกลือด้านหนึ่งจะต่อเข้ากับปุ่มกด และที่ข้างปุ่มกดจะมีหัวอัดไซลิงค์ซึ่งมีไว้สำรองกรณีปุ่มกดขัดข้อง ส่วนปลายสายอีกด้านจะต่อเข้าใต้ถุงน้ำเกลือซึ่งได้ต่อสายไปที่หลังมือของนักโทษไว้แล้วโดยจะปิดทางเดินยาและสารพิษไว้ก่อน ปุ่มกดจะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ชุด ชุดละ 3 ปุ่ม ทั้งสามปุ่มนี้จะบรรจุสารพิษปุ่มละชนิด ห้องนี้เรียกว่า “ห้องฉีดสารพิษ”
ปลายเตียงประหาร จะมีห้องกระจกสีทึบอยู่ห้องหนึ่ง ถ้ามองจากห้องประหารออกไปจะมองไม่เห็นอะไร แต่ถ้ามองจากในห้องนี้ออกมาที่ห้องประหารจะสามารถมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ภายในห้องประหารได้อย่างชัดเจน ห้องนี้คือห้องของกรรมการและสักขีพยาน เมื่อคณะกรรมการและสักขีพยานพร้อมแล้ว จะทำการมัดตัวนักโทษให้ติดกับเตียงประหาร พร้อมกับเดินสายน้ำเกลือเข้าเส้นเลือดที่หลังมือเป็นที่เรียบร้อย ผู้ให้สัญญาณการประหารชีวิตจะสะบัดธงแดงลงเพื่อให้สัญญาณว่าดำเนินการประหารได้ เพชรฆาตจะเริ่มทำการกดปุ่มฉีดสารพิษตามลำดับ ซึ่งนักโทษจะไม่มีความเจ็บปวดคล้ายกับเป็นการนอนหลับลึก และหมดลมหายใจไปในที่สุด
บางประเทศก็มีวิธีประหารที่แตกต่างกันไปเช่นประเทศญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังคงใช้วิธีแขวนคอซึ่งอาจดูโหดร้าย แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศก็เห็นด้วย และยืนยันว่าช่วยลดอัตราการเกิดปัญหาอาชญากรรมในประเทศได้เป็นอย่างดี
ในวันนี้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงโดยง่าย การมีอยู่ของโทษประหารจึงเป็นกระแสที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนับนสนุน ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะโดนกดดันจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอยู่หลายครั้ง แต่จากการประหารครั้งล่าสุด ก็สามารถการันตีได้ว่า รัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญกับบทลงโทษที่รุนแรงและเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิด สำหรับบทสรุปของประเด็นการยกร่าง พ.ร.บ. ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น จะเป็นไปในทิศทางใด คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด