- 10 ก.ค. 2563
หลังจากก่อนหน้าออกมาโพสต์ให้ข้อมูล รายละเอียด เกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทย ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาว่า "มีเสียงค่อนแคะ ดูหมิ่นดูแคลนลุงตู่ว่าพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งไม่เข้าท่า กล่าวหาว่าลุงตู่ไม่รู้เรื่องรถไฟฟ้า และต่างๆ นานา มีคนถามผมมามากว่ามีความเห็นอย่างไร? หากได้ติดตามบทความของผม จะรู้ว่าผมจะวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นธรรม อิงเหตุและผลพร้อมข้อเสนอแนะ ไม่แฝงประเด็นทางการเมือง แต่มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สนใจในประเด็นต่างๆ"
หลังจากก่อนหน้าออกมาโพสต์ให้ข้อมูล รายละเอียด เกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทย ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาว่า "มีเสียงค่อนแคะ ดูหมิ่นดูแคลนลุงตู่ว่าพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งไม่เข้าท่า กล่าวหาว่าลุงตู่ไม่รู้เรื่องรถไฟฟ้า และต่างๆ นานา มีคนถามผมมามากว่ามีความเห็นอย่างไร? หากได้ติดตามบทความของผม จะรู้ว่าผมจะวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นธรรม อิงเหตุและผลพร้อมข้อเสนอแนะ ไม่แฝงประเด็นทางการเมือง แต่มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สนใจในประเด็นต่างๆ"
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดร.สามารถ ไล่ให้ดูยุคนายกฯชื่อ ตู่ ประยุทธ์ วันนี้ระบบคมนาคมประเทศไทย พัฒนาไปถึงไหนแล้ว )
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีใจความสำคัญระบุว่า "รถไฟความเร็วสูง "ลาว" ว้าววว! แซงหน้า "ไทย"?
"ชาวเน็ตทุกวัยคงได้ยลโฉมรถไฟลาว-จีน ที่ถูกแชร์ว่อนในโลกออนไลน์ ให้เราชาวไทยร้องว้าววว! ว่าจริงหรือนี่ที่ลาวแซงหน้าไทยไปหลายช่วงตัว? แนวคิดการก่อสร้างรถไฟลาว-จีนมีมานานตั้งแต่ปี 2544 หลังจากเจรจากันลงตัวแล้ว บริษัทร่วมทุนลาว-จีนก็ลงมือก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากบ่อเต็นของลาวซึ่งอยู่ชายแดนลาว-จีน เข้าสู่อุดมไชย หลวงพระบาง วังเวียง จนถึงเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 414 กิโลเมตร เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างลาวกับจีน โดยลาวลงทุน 30% จีนลงทุน 70% มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 190,000 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละ 459 ล้านบาท
เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2564 ผมมีโอกาสได้ไปดูการก่อสร้างบางตอนในเดือนสิงหาคม 2560 รถไฟสายนี้จะเชื่อมโยงคุนหมิงของจีนกับกรุงเวียงจันทน์ของลาว ใช้รางกว้าง 1.435 เมตร เป็นทางเดี่ยว (มีเหล็กรางรถไฟ 2 เส้น) ทำให้รถไฟไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้ ต้องรอหลีกทาง จึงวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่ารถไฟความเร็วสูงจะต้องเป็นรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดตั้งแต่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ รถไฟลาว-จีนจึงไม่ถือว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงเพราะวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดไม่ถึง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง หากในอนาคตมีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 1 ทาง เป็นรถไฟทางคู่ (มีเหล็กรางรถไฟ 4 เส้น) รถไฟสามารถวิ่งสวนทางกันได้ ไม่ต้องรอหลีกทาง จึงสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถไฟลาว-จีนก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นรถไฟความเร็วสูง
หันมาดูที่รถไฟไทย หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 ก็มุ่งมั่นจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ใช้รางกว้าง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง อนึ่ง ปัจจุบันรางรถไฟไทยกว้าง 1 เมตร ส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยว วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การก่อสร้างรถไฟไทย-จีนดังกล่าว ตอนเริ่มต้นจะมีการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับจีน จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน โดยได้เจรจากันหลายสิบครั้งใช้เวลานาน จนในที่สุดเปลี่ยนมาเป็นรถไฟความเร็วสูง ทางคู่ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไทยตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมด และได้แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นการก่อสร้างจากกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงิน 176,002 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละ 698 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างช่วงแรกปลายปี 2560 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ถึงเวลานี้งานโยธาของช่วงนี้เกือบแล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 13 สัญญา มีการประมูลแล้วทั้งหมด แต่มีการเซ็นสัญญาเพียงสัญญาเดียวเท่านั้น
ระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย ระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการออกแบบรายละเอียด
จะเห็นได้ว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของไทยมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หากเราสามารถเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายได้ จะทำให้รถไฟไทยช่วงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) ได้ในอีกไม่นาน ซึ่งจะเสริมสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการขนส่งเชื่อมโยงกับนานาประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ โดยเฉพาะช่วงโคราช-หนองคาย โดยเริ่มก่อสร้างจากหนองคายมาโคราช ซึ่งจะเป็นการขยายเส้นทางรถไฟลาว-จีนมาถึงไทย และเป็นการเตรียมการรองรับผู้โดยสารจากจีนและลาวที่จะเดินทางมาไทยด้วยรถไฟลาว-จีน ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในปลายปี 2564
โดยสรุป แม้ว่ารถไฟลาว-จีนไม่ได้เป็นรถไฟความเร็วสูงก็ตาม แต่รถไฟลาว-จีนก็จะวิ่งได้เร็วกว่ารถไฟไทย หรือวิ่งแซงหน้ารถไฟไทยในปัจจุบัน กล่าวคือรถไฟลาว-จีน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถไฟไทยในปัจจุบันวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น เราต้องมาร่วมมือร่วมแรงช่วยกันผลักดันรถไฟไทยให้ความเร็วสูง หมดยุค “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” เสียที