- 07 ก.ย. 2563
พล.ร.ท. ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสธ.ทร. และ โฆษกกองทัพเรือ สวนปาก ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย ขู่ฟ้องป.ป.ช. อ้างทร.ใช้สัญญาจีทูจีเก๊ซื้อเรือดำน้ำ
ตามต่อเนื่องกับประเด็นร้อนว่าด้วยแผนการใช้งบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ของกองทัพเรือ หลังจาก พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบชะลอการดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 เพื่อสนับสนุนนโยบายของทางรัฐบาล ในการนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ ไวรัส โควิด -19
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : ทัพเรือสยบทุกครหา ชะลอแผนซื้อเรือดำน้ำ หั่นงบฯกว่า 4 พันล้าน ส่งคืนรัฐสู้ภัยโควิด )
ขณะเดียวกันได้มีการมอบหมาย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ( ผช. ผบ.ทร.) ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้ น.อ.อรรณพ แจ่มศรีใส นายทหารเรือพระธรรมนูญ ดำเนินคดีกับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคราม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กองบังคับการตำรวจปราบปราม ในข้อหาหมิ่นประมาท จากการแผยแพร่ข้อมูล คำให้สัมภาษณ์ บิดเบือนข้อเท็จจริง ว่าด้วยการขออนุมัติงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ของกองทัพเรือ จนทำให้ประชาชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัย ต่อการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ ทั้ง ๆ ที่กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามระเบียบราชการ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทำให้นายยุทธพงศ์ ต้องเปิดแถลงข่าวตอบโต้ โดยประกาศพร้อมจะสู้เรื่องนี้ ด้วยการกล่าวหาว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจีทูจี หรือ การซื้อสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐต่อรัฐ
โดยระบุว่าการลงนามกองทัพเรือของไทยเกิดขึ้นกับบริษัท ไชน่า ชิปบิลดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ CSOC ที่ได้รับมอบอำนาจจากองค์กรบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม เพื่อการป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น จึงไม่แน่ใจว่าบริษัทดังกล่าวได้รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดีจีนด้วยหรือไม่"
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ยุทธพงศ์ งัดบทบาทส.ส. แถลงโต้ทัพเรือ ขู่ฟ้องป.ป.ช.เอาผิดเรือดำน้ำ จีทูจี )
ล่าสุด พล.ร.ท. ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสธ.ทร. และ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ว่า กับคนที่ไม่มีความรู้ก็พูดไปเรื่อย แต่เรื่องนี้ไม่สามารถนำมาเทียบกับ การซื้อเรือดับเพลิง ของ กทม. ตามที่ นายยุทธพงศ์ กล่าวอ้างถึงได้ เพราะนี่เป็นการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ อาวุธเชิงยุทธศาสตร์ ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ที่มีกฏระเบียบทางราชการของ กระทรวงการต่างประเทศ และ สำนักอัยการสูงสุด และ กลาโหม ควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด ต้องผ่านหลายขั้นตอน กว่าภาครัฐจะเห็นชอบอนุมัติให้กองทัพเรือไปดำเนินการเซ็นสัญญาได้
“นั่นเป็นความเข้าใจไปเองของเขา คือ ปัญหาของเขาเอง เพราะ นี่มันเป็นการ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ มันมีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่ซื้อของปกติ การจัดซื้อจ้างยุทโธปกรณ์ มีข้อกำหนดกฏหมายนานาชาติ ด้วย ให้เขาไปรู้ในศาล แล้วกัน”
ทั้งนี้ พล.ร.ท. ประชาชาติ ได้เน้นย้ำข้อมูลแถลงชี้แจง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ว่า สำหรับบริษัท CSOC ที่เป็นคู่สัญญาต่อเรือลำน้ำ S26T ลำแรก ให้กองทัพเรือ ถือเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมจีน ซึ่งเป็นการต่อเรือดำน้ำก็ถือเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ ความมั่นคง ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมจีน
"ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มอบอำนาจการลงนามในข้อตกลงของรัฐบาลไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560 โดยอนุมัติให้ ผบ.ทร.ในขณะนั้น เป็นผู้แทนไปลงนามระหว่างรัฐบาล หลังจากนั้น ผบ.ทร. ได้มอบอำนาจให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ในขณะนั้น เป็นผู้แทน ผบ.ทร.ไปลงนามในข้อตกลง กับบริษัทที่ต่อเรือ CSOC ซึ่งก็ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานของรัฐบาลจีน ด้านการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและส่งออกอาวุธ (SASTIND) เป็นผู้แทนรัฐบาลมาลงนามในสัญญากับไทย เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกลาโหมจีน สำคัญบุคคลที่มาลงนามในนามของ CSOC ก็คือผู้ได้รับมอบอำนาจอย่างชัดเจนจากรัฐบาลจีนเช่นกัน"