- 12 ก.ย. 2563
อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อธิบายชัด ข้อโต้แย้ง เพนกวิน ละเมิดอำนาจศาล ฟังไม่ขึ้น
สืบเนื่องจากการที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ นำตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง 2 ผู้ต้องหา คดีปราศรัยปลุกปั่นยุยงฯ มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญา จากนั้นได้เกิดการรวมตัวของบุคคลผู้สนับสนุน บริเวณหน้ามุกบันไดทางขึ้นศาลอาญา ขณะเดียวกันกับที่นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ได้ยืนขึ้นตะโกนส่งเสียงดัง และใช้กล้องถ่ายภาพลงโฆษณาเพื่อชักชวนให้บุคคลอื่นๆเดินทางมาชุมนุมในบริเวณศาล และร่วมขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุมในบริเวณศาลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ อันถือเป็นการทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญา ถือว่า เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และได้มีคำสั่งเลื่อนไต่สวนพยานคดีดังกล่าว ออกไปเป็นวันที่ 28 ก.ย. 2563 เวลา 9.00 น. พร้อมให้รับภาพ DVD ไปพิจารณา และทำการคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : เพนกวิน โผล่สู้คดีละเมิดอำนาจศาล ลั่นไม่ได้ทำผิด ขอให้ใช้ดุลยพินิจเป็นธรรม )
ล่าสุด อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าวว่า "ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ให้ศาลมีอํานาจออกข้อกําหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจําเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล ฯลฯ
ขณะที่มาตรา 31 ระบุว่า ผู้ใดกระทําการอย่างใดๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทําผิดฐานละเมิดอํานาจศาล (1)ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ฯลฯ
ตามบทบัญญัติของมาตรา 30 ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล คำว่า "ในบริเวณศาล" หมายความว่าภายในรั้วรอบอาคารศาล คือรวมทั้งตัวอาคารศาลและบริเวณรอบๆ อาคารศาล ศาลอาญาได้ออกข้อกำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้กระทำการอะไรบ้างในบริเวณศาลโดยได้ปิดประกาศไว้ที่ประตูอาคารศาลอาญา
การที่นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ซึ่งถูกศาลอาญาหมายเรียกไปไต่ส่วนกรณีผู้อำนวยการศาลอาญายื่นคำร้องกล่าวหาว่ากระทำละเมิดศาล ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ศาลอาญา ว่าตนไม่ได้เข้าไปกระทำการใดๆ "ในห้องพิจารณาคดี" ของศาล จึงไม่เข้าข่ายการกระทำละเมิดอำนาจศาล
"ในห้องพิจารณาคดี" หมายความว่า ห้องพิจารณาคดีหรือบังลังก์ที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ซึ่งอยู่ภายในตัวอาคารศาลมีจำนวนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นศาลขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก
คำว่า "ในบริเวณศาล" กับคำว่า " ในห้องพิจารณาคดี" จึงมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ศาลยุติธรรม โดยศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตลอดมาว่า การกระทำละเมิดอำนาจศาลคือการกระทำในบริเวณศาล (การกระทำในห้องพิจารณาคดีก็เป็นกระทำในบริเวณศาล)