- 16 ก.ย. 2563
ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชนกรณีพิจารณาคำร้องของนาณฐพร โตประยูร นายอานนท์ นำภา นายภาณุพศ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ทำม็อบ 10 ส.ค. เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
สืบเนื่องจากกรณีที่ ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษา ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ายื่นเรื่องต่อ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท./ โฆษก บก.ปอท. พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับแกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุม ฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63
ต่อมามีรายงานข่าวความคืบหน้าการดำเนินการด้านคดี ว่า ทางสำนักอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 สำนักอัยการสูงสุด ได้มีการเชิญ นายณฐพร เข้าให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานอัยการแล้ว ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับคำร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 49 จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 มีคณะบุคคลให้สถานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดเวทีชุมนุม ชื่อว่าธรมศาสตร์จะไม่ทน ได้มีการกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะการยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ขณะที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 69/2563 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2563 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากรณีมีผู้ขอให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามลำดับ
ขณะเดียวกัน นายณฐพร หลังจากการให้ข้อมูลกับทางสำนักอัยการพิเศษ ให้ข้อมูลว่า ตนจะไปยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย เพราะภายหลังครบ 15 วันในการยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด หากพบว่าอัยการสูงสุดหากยังไม่ดำเนินการตามร้อง ก็จะสามารถดำเนินการเรื่องคำร้องต่อศาลรธน.ต่อทันทีได้เลย
ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชนกรณีพิจารณาคำร้องของนาณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยอ้างว่าผู้ถูกร้อง ประกอบด้วยคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ จัดชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 9 ส.ค. 10ส.ค. 20ส.ค. 21 ส.ค. และ30 ส.ค. ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.นายณฐพร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และมีคำสั่งให้คณะบุคคล เลิกการกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ทั้งนี้ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า แม้ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของคณะบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ในการจัดการชุมนุมปราศรัย รวม 6 ครั้ง อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้พิจรณาเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง เกี่ยวกับการจัดการชุมนุมปราศรัยของคณะบุคคลในวันที่ 10 ส.ค.ณ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งตามคำร้องระบุว่าการชุมนุมปราศรัย ในวันดังกล่าวมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน ที่มีการกระทำตาที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คือ นายอานนท์ นำภานายภาณุพศ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 1 กรณีเป็นไปตามรัฐธรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนตามคำร้องที่กล่าวอ้างว่ามีการปราศรัยใการชุมนุมครั้งอื่นตามเอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 1 ไม่ปรากฎว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่ง รับคำร้องเฉพาะการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ไว้พิจารณา วินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งสามเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ร้องยื่นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง