- 02 ต.ค. 2563
ยอัษฏางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ซัดแรงสื่อปั้นข่าวเท็จ ซ้ำเติมประเทศไทย เผชิญวิดฤตเศรษฐกิจ ปิดโรงงานคนเดือดร้อน
กลายเป็นหนึ่งประเด็นร้อนโลกโซเชียล ภายหลังมีการโพสต์คลิปภาพดราม่า โดยระบุเป็นบรรยากาศ การทำงานวันสุดท้ายของพนักงานโรงงาน บริษัท มิตซูบิชิฯ พร้อมอ้างว่าการปิดโรงงานที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาภาวะเศรษฐกิจประเทศ อันเนื่องมาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด
ล่าสุด นายอัษฏางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ถึงประเด็นดังกล่าว ด้วยภาพและข้อความว่า "ปั่นข่าวเท็จ บิดเบือนเนื้อหา แต่คนก็ยังเชื่อ โดยไม่เคยตรวจสอบความถูกต้อง แล้วก็บอกว่า ตนเอง "ตาสว่าง" ตามืดตามมัว ไม่ว่า" ... ก่อนจะมีการโพสต์เพิ่มเติมว่า "ไม่ใช่ "ตาสว่าง" แต่โดน "แหกตา" หยุดเสพข่าวเท็จที่แหกตา แล้ว ตาจะสว่าง
ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวถึงกรณีที่มีภาพข่าวพนักงานบริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชียจำกัด จ.ชลบุรี กอดคอกันอำลา เนื่องจากถูกเลิกจ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงลูกจ้างของบริษัท มิตซูบิชิฯ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และจากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้เป็นการเลิกจ้างปิดกิจการ แต่เป็นโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก โดยมีผลตอบแทนเป็นเงินชดเชยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด คือ 16-37 เดือน
จึงทำให้มีลูกจ้างสนใจสมัครเข้าโครงการจำนวนมากถึง 970 คน เกินยอดที่ตั้งเป้าไว้แค่ 686 คน โดยส่วนใหญ่ต้องการนำเงินก้อนไปเปลี่ยนแผนชีวิตหรือไปประกอบอาชีพด้านอื่นแทน จึงไม่อยากให้คนที่ได้รับทราบข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง และคนไม่ทราบข้อมูลที่เป็นจริงจะตกใจว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำจนมีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
"รายละเอียดและที่มาทำให้บริษัทมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย จำกัด ต้องเปิดโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก เนื่องจากบริษัทฯมีลูกจ้างจำนวนมากถึง 2,400 คน จึงต้องมีการปรับลดจำนวนลูกจ้าง ตามคำสั่งซื้อลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีประกาศโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และกำหนดการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษ เท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายและยังมีเงินเพิ่มพิเศษมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยต่ำสุดที่ได้รับคนละ 16 เดือน สูงสุดได้รับคนละ 37 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 จุดนี้จึงทำให้มีลูกจ้างสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 970 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่บริษัทอนุมัติ ให้สมัครใจลาออกจำนวน 686 คน ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินค่าช่วยเหลือพิเศษและเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างแล้วจำนวนประมาณ 560 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ยืนยันว่าเหตุกรณีดังกล่าว ไม่ไช่การสื่อความว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤต แต่เป็นกรณีที่บริษัทต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงาน ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีการเสนอผลตอบแทนเป็นค่าชดเชยในจำนวนที่สูง ส่งผลให้ลูกจ้างสนใจที่จะได้รับเงินก้อน ไม่ได้กลัวตกงาน และไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา จนมีการเลิกจ้างจำนวนมากอย่างที่มีการสื่อความออกไป
ขณะเดียวกันยังมีตรวจสอบพบว่าสื่อออนไลน์ ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลแห่งหนึ่ง ได้มีทวิตข้อความ การเผยแพร่ยูทูป ระบุใจความสำคัญว่า เครือพานาโซนิค ปิดกิจการ 2 โรงงาน หอบเงินไปเวียดนาม ตกงานหมดเกือบพัน สัญญาณชัดเศรษฐกิจเจ๊ง" ก่อนที่จะมีการลบทิ้งในภายหลังจากมีผู้ทักท้วงเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากมีข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน และเคยมีการชี้แจงจากบริษัทพานาโซนิค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยเฟซบุ๊กเพจ Panasonic Thailand ระบุว่า ''ตามที่ได้มีข่าวในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย และเพื่อป้องกันการสับสน กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ขอชี้แจงว่า บริษัท พานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดำเนินการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็น และบริษัท พานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ อาร์ แอนด์ ดี เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนเครื่องซักผ้าและตู้เย็น
โดยทั้งสองบริษัทดังกล่าวมีที่ตั้งปัจจุบัน ณ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรล์ จะมีการควบรวมการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นไปที่ประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภท ภายในเดือน มี.ค. 2564
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย อีก 18 บริษัท ยังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตามปกติ รวมทั้งดำเนินการจัดจำหน่ายและการบริการหลังการขาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องซักผ้าและตู้เย็น เช่นเดิม