- 11 พ.ย. 2563
ย้อนปมฉาว วิษณุ เครืองาม คนใกล้ตัว นายกฯตู่ ในวันเป็นหัวหอก ไฟเขียวยืดอายุสัมปทาน BEM สังเวยค่าโง่ทางด่วน เคยผลักดันสุดลิ่ม สมเด็จช่วง ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 จนหวิดเกิดวิกฤตพุทธศาสนาครั้งใหญ่
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ตั้งแต่ยุครัฐบาลคสช. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ถึงวันนี้ “วิษณุ เครืองาม” ยังยึดเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และด้วยความไว้วางจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จับพลัดจับผลู ต้องมารับภารกิจสำคัญ ในฐานะหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบัน กว่า 6 ปีแล้ว
แน่นนอนว่าโดยบทบาทของ “วิษณุ” ชัดเจนยิ่ง ด้วยคุณสมบัติ ความรู้ทางกฎหมาย จนหลายคนขนานนามว่า กุนซือนายกฯ แต่หลายช่วงจังหวะของการทำหน้าที่ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ก็ใช่ว่าจะไม่มีร่องรอยด่างพร้อย ให้สังคมต้องหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่นการสรุปความให้รัฐบาลยินยอม ยืดอายุสัมปทานทางด่วน แก่ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” โดยอ้างว่าเพื่อยุติข้อพิพาททางคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้ง ๆ ยังไม่มีการชี้ผิดชี้ถูก
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง พูดถึงกันมาก คือ ท่วงท่าทีของ “วิษณุ” ต่อกระบวนการ พิจารณาเสนอรายชื่อ สมเด็จพระราชาคณะ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
เพราะ “วิษณุ” ถูกจับตาในท่าทีมาโดยตลอด ว่าต้องการผลักดันให้ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” หรือ “ สมเด็จช่วง” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ในขณะนั้น) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช หรือไม่??
ยิ่งกับกระแสเสียงส่วนใหญ่ ทักท้วงความเหมาะสม จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งในหมู่เหล่าพุทธศาสนิกชน และวงการสงฆ์ เนื่องด้วย “สมเด็จช่วง” ในขณะนั้นมีครหาสำคัญ ว่าด้วย คดีการครอบครองรถเบนซ์โบราณ ตามแนวทางการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่ง “สมเด็จช่วง” อยู่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหาว่ าอาจมีการกระทำผิดร่วม ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่ามิควรยิ่งนำชื่อ “สมเด็จช่วง” ขึ้นทูลเกล้าฯ ให้กระทบเบื้องพระยุคลบาท สถาบันเบื้องสูง
แต่ประเด็นสำคัญ คือ เวลานั้นกลับมีความพยามในทุกรูปแบบ ทำให้ “สมเด็จช่วง” ได้รับการเสนอชื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ไม่ว่าจะเป็นการประชุมลับมหาเถรสมาคม เพื่อออกเป็นมติเห็นชอบ หรือ กรณีที่ “วิษณุ” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยืนกรานตลอดเวลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ผ่านคำพูดดังนี้
“เรื่องนี้พระมหากษัตริย์ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ซึ่งจะต้องเสนอเห็นชอบสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ จะมาพูดเป็นอย่างอื่นให้ยุ่งทำไม ถ้าไม่ตั้งสมเด็จวัดปากน้ำแล้วจะตั้งใคร .... ”
การบิดเบือนโดยการไม่อธิบายให้จบครบถ้วนกระบวนความข้อกฎหมายของ “วิษณุ” ย่อมส่งผลให้ความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องเจตนาส่วนตัวของ “วิษณุ” เพิ่มพูนทวีคูณมากขึ้น เพราะตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ให้ไว้ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2505 และ ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ไม่ได้มีเพียงวรรคแรก วรรคเดียว แบบที่ “วิษณุ” นำมากล่าวอ้างเป็นเงื่อนไขต้องเสนอชื่อ “สมเด็จช่วง” เท่านั้น
แต่โดยเนื้อหาใจความสำคัญตาม มาตรา 7 เรื่อง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง มีรายละเอียดดังนี้
“ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”
สรุปใจความประเด็นหลักๆ ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ คือไม่มีความจำเป็น ต้องยึดติดกับเรื่องอาวุโสสูงสุด เพราะในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ย่อมสามารถได้รับการเสนอชื่อเพื่อทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
อีกประการสำคัญ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2559 "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ก็ได้สรุปผลการวินิจฉัยคำร้องของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสว. และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องการขอให้พิจารณามติของมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่องการเสนอนามของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่าเป็นการกระทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่
โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติให้ทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตีกลับมติดังกล่าวของ มส.เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน และไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505
ขณะที่จุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ว่า จะไม่มีการนำรายชื่อผู้มีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
หากแต่ก่อนที่วิกฤตพุทธศาสนาจะบานปลายไปสู่จุดแตกหัก สุดท้ายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำเสนอวาระด่วน เพื่อการพิจารณา แก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่...) พ.ศ..... โดยมีสาระสำคัญ ว่าด้วยแก้ไขมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช
โดยมีเนื้อหาสำคัญว่าด้วยการถวายคืนพระราชอำนาจกลับสู่สถาบันฯ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” พร้อมหลักการแก้ไขว่า ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับที่... พ.ศ..... มีหลักการเพื่อขอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เพียงประเด็นเดียว คือการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในมาตรา 7
สำหรับเหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าว เพราะตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยมีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มาตรา 5 ดังนั้นจึงสมควรบัญญัติให้สอดคล้องโบราณราชประเพณี โดยให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้ขึ้นมา
ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงใช้พระราชอำนาจตามกรอบกฎหมาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 ว่าด้วยผู้เหมาะสมที่จะได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ย้อนเวลากลับพิจารณา ในทางตรงข้ามถ้าเหตุการณ์ที่ผ่านมา กระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ยังคงเป็นไปตามหลักคิดของ “วิษณุ เครืองาม” ในการอ้างอิงมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพียงแค่วรรคแรก แล้วดึงดันให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยึดตามมติมหาเถรสมาคม ที่มีกรรมการเสียงส่วนใหญ่ยึดโยงอยู่กับวัดธรรมกาย โดยไม่ฟังกระแสเรียกร้องความชอบธรรม วิกฤตความขัดแย้งในหมู่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนหมู่สงฆ์ คงยากจบสิ้น
รวมถึงปัญหาการสั่งสมเงินทุน ลัทธิความเชื่อ บนความเชื่อมโยงระหว่างวัดธรรมกาย กับระบบอำนาจทางการเมือง ภายใต้เครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” ก็คงไม่ได้รับการสะสางให้ถูกต้อง ชอบธรรมเช่นทุกวันนี้
นี่จึงเป็นเหตุที่ต้องส่งสัญญาณเตือนดังๆ ไปถึง “นายกฯประยุทธ์” ว่าคนใกล้ตัวอย่าง “วิษณุ เครืองาม” ยังคงไว้ใจได้หรือไม่ โดยผู้คนในรัฐบาล ก็ไม่รู้ว่าปมปัญหาที่ซุกซ่อนไว้ จากผลงานของ “รองฯวิษณุ” วันนี้และวันข้างหน้า จะย้อนกลับทำลายศรัทธาในตัว “ลุงตู่” ประการหนึ่งประการใด หรือไม่??
>> ช้อปออนไลน์ที่ Tesco Lotus ผ่านแอพ Lazada เก็บโค้ดลดเพิ่ม 11% คลิกเลย <<