- 19 พ.ค. 2567
'ทนายด่าง' เปิดข้อมูลใหม่ปม 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิตก่อนถึงรพ.ธรรมศาสตร์ฯ พบมีการใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดอาหาร พร้อมเผยแพทย์พบสารบางอย่างที่น่าตกใจ
‘ทนายด่าง’ เผยข้อมูลใหม่ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต ยัน รพ. ใส่ท่อผิดจุด
จากกรณีที่ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งอดอาหารประท้วงหลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา กระทั่งมีอาการวิกฤตหัวใจหยุดเต้น จึงต้องส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี โดยแพทย์ได้ปั๊มหัวใจยื้อชีวิต (CPR) แต่ไม่เป็นผล ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลา 11.22 น. วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดย ทนายด่าง กล่าวว่า หลังการเสียชีวิตของ บุ้ง ญาติไม่ได้รับรายงานการรักษา แต่เท่าที่ดูอาการของบุ้ง 5 วันย้อนหลัง พอบ่งชี้ได้ถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งได้ขอภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ซึ่ง รมว.ฯ และอธิบดีฯ ยืนยันว่ามี และได้ตรวจสอบภาพแล้ว ก่อนนำไปแถลงให้สื่อมวลชนรับทราบ แต่กลับไม่ได้มอบให้กับทนายความ โดยอ้างกฎกระทรวงฯ แม้พี่สาวของบุ้งจะมอบให้ทนายความไปขอวงจรปิด ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องให้คุณพ่อหรือคุณแม่ไปรับเอง ซึ่งเรื่องนี้ย้อนแย้งกับการนำข้อมูลภาพวงจรปิดไปแถลงให้สื่อฟังหลายครั้งโดยไม่ได้ขออนุญาตครอบครัวผู้ตายด้วยซ้ำ
ทนายด่าง กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นหลักคือรายงานการรักษาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯที่ส่งมาให้ ระบุว่าบุ้งมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เวลา 09.30 น. ซึ่งไม่หายใจและไม่มีสัญญาณชีพ วัดค่าลมหายใจเป็นศูนย์ และที่สําคัญมีการตรวจพบว่า การรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อนมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯนั้น มีการทําที่ผิดพลาด คือ 'ใส่ท่อช่วยหายใจผิดตําแหน่ง' โดยใส่ไปในหลอดอาหารแทนที่จะใส่ในหลอดลมเพื่อนําออกซิเจนเข้าไปช่วยในการหายใจ ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยืนยันว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทําให้บุ้งเสียชีวิต
และยังมีเรื่องที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ แพทย์พบสารบางอย่างซึ่งตนยังไม่ขอเปิดเผยตอนนี้ ต้องรอผลวิเคราะห์แยกแยะอย่างเอียดก่อน และเพราะเหตุนี้หรือไม่ทางราชทัณฑ์จึงไม่ยอมส่งรายการการรักษาของบุ้งให้สักที ซึ่งตนไม่อยากบอกว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ห่วย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทําให้เกิดข้อกังขาหลายอย่างและถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ เพราะบุ้งเสียชีวิตภายใต้การควบคุมของราชทัณฑ์ ส่วนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบนั้นตนไม่ทราบ นอกจากนี้แพทย์ตรวจพบว่ามีค่าบางอย่างที่พุ่งสูงผิดปกติ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขอให้แพทย์ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะตนไม่ต้องการใส่ร้ายใคร แต่อยากบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจว่า ทํากันถึงขนาดนี้เลยหรือ
ในตอนท้าย ทนายด่าง ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า อย่าหลอกลวงให้ 'ตะวัน' เซ็นเอกสารใด ๆ หรือให้การใด ๆ เพราะเด็กยังอยู่ในอาการเสียใจและอาการอ่อนแรงเป็นอย่างมาก และที่สําคัญตะวันถือเป็นพยาน ดังนั้นอยากให้ครอบครัวและเพื่อนช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้ดี เพราะไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับตะวันหรือไม่ แต่เชื่อว่าตอนนี้อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ปลอดภัยแน่นอน
ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ศาลา 7 วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง บรรยากาศการถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ในช่วงเช้า ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจในช่วงเย็น บรรยากาศเต็มไปด้วยครอบครัว ญาติ มิตรสหาย ผู้ร่วมอุดมการณ์ของ น.ส.เนติพร ตลอดจนนักกิจกรรมและประชาชนที่ทยอยเดินทางมาร่วมไว้อาลัย
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ได้แถลงคำชี้แจงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม เรื่องข้อสังเกตในการรักษาพยาบาล กู้ชีพไว้ดังต่อไปนี้
“ตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม มีอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพตั้งแต่เวลา 0623 น. ก่อนจะส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในเวลา 09.30 น. ซึ่งข้อมูลการรักษาก่อนหน้าเกิดอาการระหว่างการกู้ชีพ
รวมถึงระหว่างการส่งตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่มีการเปิดเผยเอกสารตามที่ทางทนายความได้ทำเรื่องขอ เพื่อความกระจ่างในการรักษา โดยสาเหตุการตายจากการชันสูตรพลิกศพ ลงความเห็นไว้ว่า
1.ภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลัน
2.ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ
3.ภาวะหัวใจโต ส่วนผลการตรวจหาสารพิษยังอยู่ในระหว่างการรอผล
จากข้อมูลการรักษา เวชระเบียนที่ได้จากทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แรกรับช่วงเวลา 09.30 น. พบว่าไม่มีสัญญาณชีพ คลื่นไฟฟ้าหัวใจแรกรับ ไม่มีคลื่นไฟฟ้าของหัวใจห้องข้างล่าง (Asystole) ฟังปอดไม่พบเสียงลมในปอด แต่ได้ยินเสียงลมบริเวณลิ้นปี่ เมื่อตรวจดูด้วยอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจที่มีกล้องติดอยู่ที่ปลาย (Video laryngoscope) พบว่าท่อช่วยหายใจอยู่ในหลอดอาหาร ค่า ETC02 พบว่าไม่มีคลื่น ETC02 โดยวัดค่าได้เท่ากับ 0 มิลลิเมตรปรอต ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดระบุว่ามีการใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหาร (Esophageal intubation) จึงทำการใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ ได้ยินเสียงลมเข้าปอดทั้งสองข้าง และวัดค่า ETCO2 ได้ 10 มิลลิเมตรปรอต
ตั้งแต่เวลาที่บุ้งตรวจไม่พบสัญญาณชีพ 06.23 น. จนมาถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในเวลา 09.30 น. เป็นเวลา 3 ชั่วโมงในการกู้ชีพ โดยที่สัญญาณชีพแรกรับที่ห้องฉุกเฉินไม่พบชีพจร ในขณะที่ยังต้องค้นหาสาเหตุการตายผ่านการทบทวนเวชระเบียนจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แม้การใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหารเป็นสิ่งที่พบได้ แต่ตามมาตรฐานวิชาชีพการตรวจสอบเพื่อยืนยันตำแหน่งท่อช่วยหายใจทันทีเป็นเรื่องพื้นฐาน หากไม่แน่ใจต้องมีวิธีการในการยืนยันเพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งท่อช่วยหายใจอยู่ในที่ที่ถูกต้อง แม้การใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งและตรวจสอบไม่ได้ อาจไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นหนึ่งในอีกความผิดพลาดร้ายแรง ที่ทำให้โอกาสการคืนชีพของบุ้งน้อยลงจนกลายเป็นแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต
เราต้องการตั้งคำถามกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุ้ง ตั้งแต่การดูแลก่อนการเสียชีวิต ขณะกู้ชีพ และจนถึงระหว่างการส่งตัวเพื่อรักษาต่อ เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทราบถึงมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลราชทันฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดนี้กับคนไข้รายอื่นอีก” ทนายด่างกล่าว