- 04 ส.ค. 2563
ณภัทร โชติพฤกษ์ชูกุล ครูช่างศิลปหัตถกรรม กับมุมมองสร้างสรรค์ ที่ประยุกต์งานเซรามิก เป็นเครื่องประดับร่วมสมัย
“งานเซรามิก และเครื่องปั้นดินเผา เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ที่ทำสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นงานประเภทจาน ชาม แจกัน ของใช้ในครัวเรือน จนมาถึงในยุคที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการก็มีความคิดว่า ควรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง และจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลายหลายมากขึ้นได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำองค์ความรู้ด้านการสร้างสรรค์งานเซรามิกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับภายใต้แบรนด์ PITA ซึ่งช่วยให้งานดั้งเดิมของครอบครัว สามารถเป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน”
ณภัทร โชติพฤกษ์ชูกุล ได้รับการเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 จากศูนย์ส่งเสริม ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ประเภทเครื่องดิน ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเซรามิก และได้มาจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่มีสีสันสะดุดตา ในงาน “ศิลปาชีพทอใจ วิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี”เมื่อวันที่ 1 – 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้กล่าวถึง แรงบันดาลใจในผลงาน ว่า งาน เซรามิกเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากพื้นเพของครอบครัวเป็นชาวจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่อง “ดินขาว” ดินคุณภาพที่เหมาะกับการปั้นงานเซรามิก แต่เมื่อมีผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในพื้นที่จำนวนเยอะขึ้น ก็ทำให้ต้องคิดปรับกลยุทธ์การตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้ จึงได้คิดริเริ่มทดลองออกแบบเครื่องประดับงานเซรามิก ภายใต้แบรนด์ PITA ที่อาศัยความชำนาญในเชิงช่าง พร้อมองค์ความรู้ในด้านการเคลือบและลงสี โดยใช้เทคนิคพิเศษที่มีความเฉพาะตัว ไม่ซ้ำแบบใคร โดดเด่นด้วยเทคนิค “งานเซรามิกสีใต้เคลือบ” ที่ผ่านการเผาด้วยความร้อนสูงกว่า 1100 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ชิ้นงานมีความเงางาม สีสันสดใส ผิวเซรามิกเรียบเนียนคงทน และยังได้รับรางวัลอีโค่ เฟรนด์ลี่ การันตีว่าเป็นผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การได้เข้ามาเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม และร่วมงานกับ SACICT ก็ยิ่งช่วยให้ได้มีโอกาสเปิดตลาดมากขึ้น ทำให้ผลงานเป็นที่รู้จัก ได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนกับกลุ่มลูกค้าสามารถนำมาพัฒนาด้านการออกแบบของแบรนด์ จนทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเซรามิกจากแบรนด์ PITA มีกลุ่มลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี และสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นผลดีที่ส่งต่อไปยังชุมชนผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้จากงานศิลปหัตถกรรมอย่างยั่งยืน