- 18 เม.ย. 2563
สหภาพฯการทางพิเศษเดือดปุด สวนเดือด BEM ฉวยโอกาสอ้างข้อสัญญา เรียกร้องให้กทพ.พิจารณาแนวทางชดเชย อ้างมาตรการเคอร์ฟิว ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบปริมาณการใช้ทางด่วน ทั้งๆครม.เพิ่งยอมอนุมัติขยายอายุสัมปทานทางด่วน
สหภาพฯการทางพิเศษเดือดปุด สวนเดือด BEM ฉวยโอกาสอ้างข้อสัญญา เรียกร้องให้กทพ.พิจารณาแนวทางชดเชย อ้างมาตรการเคอร์ฟิว ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบปริมาณการใช้ทางด่วน ทั้งๆ ครม.เพิ่งยอมอนุมัติขยายอายุสัมปทานทางด่วน
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ออกแถลงการณ์ กรณีบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 เมษายน 2563 ถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพือให้พิจารณาว่าแนวทางการชดเชยผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไว้รัส โควิด -19
สร.กทพ.เห็นว่าการที่รัฐบาลประกาศ มาตรการควบคุมโรคระบาดติดต่ออันตรายร้ายแรงโรคไวรัสโควิด-19 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด -19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เพื่อไม่ให้ระบาดไปสู่ประชาชนในวงกว้าง อันจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก จะส่งผลกระทบต่อชีวิตอนามัยของสาธารณชนเป็นอันมาก ซึ่งมาตรการดังกล่าว เป็นการกำหนดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นในเหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ขัดกับสัญญาและเป็นเหตุให้การทางพิเศษฯต้องชดเชยให้บริษัทแต่อย่างใด
ก่อนหน้านั้น นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ระบุเรื่อง การแจ้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมอ้างถึง สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 รวมถึงนำส่ง ปริมาณจราจรและรายได้ค่าผ่านทาง ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ของเดือนกุมภาพันธ์ และ เดือนมีนาคม 2563 แสดงใจความสำคัญ เพื่อขอความอนุเคราะห์จากกทพ. เพื่อพิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบของบริษัท
ขณะที่รายละเอียดของหนังสือ นำส่ง นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โดวิด-19) อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีคำสั่งห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา และมีคำสั่งปิดสถานที่บางประเภทเป็นการชั่วคราวและคำสั่งห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา
บริษัทฯ ตระหนักถึงความจำเป็นของภาครัฐ และความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ติลงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นประกอบกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้ปริมาณจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทฯจึงขอเรียนให้ กทพ.ทราบถึงผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยและเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นที่เกิดขึ้น
“ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามสัญญา ข้อ 18.1 และ 18.2 บริษัทฯจะเรียนให้ กทพ. ทราบถึงรายละเอียดผลกระทบเมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ และด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จึงเรียนขอความอนุเคราะห์ กทพ. เพื่อพิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบของบริษัทฯต่อไป ด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง”
ขณะเดียวกัน ทางบมจ. BEM ยังอ้างถึงข้อมูลจำนวนรถใช้ทางด่วน ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่ามีปริมาณลดลง 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือ เหลือ 950,000 คันต่อวัน และไตรมาสแรกคาดว่าจะมีปริมาณรถใช้ทางด่วนลดลง 11.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลง 8.8% เมื่อเทียบระหว่างไตรมาส โดยจะเหลือรถใช้บริการทางพิเศษเฉลี่ย 1.12 ล้านคันต่อวัน
จากการตรวจสอบเพิ่มเติม กับเอกสารสัญญาที่ บมจ.BEM นำมากล่าวอ้างประกอบ เป็นรายละเอียดสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) ระหว่างกทพ.และบีอีเอ็ม และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด
ตามรายละเอียดข้อ 18 เรื่องเหตุสุดวิสัยและเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น ในข้อ 18.1 นิยามเหตุสุดวิสัย หรือเหตุซึ่งมีผลกระทบในทางเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่าย โดยคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในทางเสียหายนั้น ได้ใช้ความพยายามจะป้องกันผลเสียหายนั้นแล้วอย่างเต็มที่
อาทิ 18.1 (ก) ความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และ 18.1 (ค) การกระทำการหรืองดเว้นการกระทำการ การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีศุลกากร อากร ภาษี กฎหมายหรือระเบียบ ของ กทพ. รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจงใจให้มีผลกระทบโดยตรงต่อสัญญานี้ หรือกระทบต่อรายได้ผ่านทางที่เอกชนจะได้ตามสัญญา
และ ข้อ 18.2 ระบุว่า ในระหว่างดำเนินงาน เมื่อคู่สัญญาสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ประสบเหตุตามข้อ 18.1 คู่สัญญาฝ่ายนั้นจะต้องดำเนินการตามสัญญาข้อ 18.2 คือ ให้คู่สัญญาฝ่ายนั้น แจ้งเหตุให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบภายใน 15 วัน นับแต่โอกาสแรกที่อาจแจ้งให้ทราบได้ หากมิได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนด คู่สัญญาที่ประสบเหตุจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามข้อ 18.3 และข้อ 18.4 ในภายหลังไม่ได้
ในขณะที่สัญญาข้อ 18.3 มีการระบุว่า กรณีที่คู่สัญญาได้รับผลกระทบด้านการเงินอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ประสบผลกระทบอย่างร้ายแรงด้านการเงินอันมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัย และ/หรือเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นนั้น มีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยโดยวิธีหนึ่งวิธีใด 3 วิธี คือ
1.โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทาง
2.ขยายระยะเวลาของสัญญา
หรือ3.ชดเชยด้วยวิธีการอื่นใดตามที่คู่สัญญาจะได้ตกลงกัน
ประเด็นสำคัญคือ ก่อนหน้านั้นไม่นาน คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอการต่อสัญญาทางด่วนเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ BEM เพื่อระงับข้อพิพาทคดีทางด่วนที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท ได้แก่ การแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และการแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา)
โดยการอนุม้ติให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน