- 20 เม.ย. 2563
เปิดรายชื่อ 32 จังหวัดแรก เตรียมคลายล็อกดาวน์ ต้นเดือนพฤษภาคมนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีทีมที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือเห็นตรงกันว่า ควรต้องเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิดในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนผ่านจะไม่กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆ สำคัญ โดยอยู่ระหว่างรมว.สธ.เซ็นหนังสือกรอบความคิดนี้เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และหารือภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการระดับประเทศต่อไป
มาตรการต่างๆ จะไม่เดินพร้อมกันหมด 77 จังหวัด จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของสธ.ที่จัดกลุ่มจังหวัด คือ กลุ่ม 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 2 สัปดาห์ ถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือนพ.ค.
แต่อาจจะมีการทดลอง 3-4 จังหวัดช่วงปลายเดือนเม.ย.ก่อน ขึ้นกับความพร้อม จากนั้น 2 สัปดาห์ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยดี ก็จะเป็นกลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายคือกลางพ.ค. เพราะถึงเวลานั้นจังหวัดเหล่านี้คงมีผู้ป่วยน้อยและจะเป็นกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่องแต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเป็น 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ต้นมิ.ย.
จากเอกสารประกอบการประชุม ภาคผนวกที่ 1 ระดับการระบาดของจังหวัด จะมีการอัปเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือนเม.ย.อีกครั้ง เบื้องต้นข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. พบว่า
กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี
กลุ่ม 2 พบผู้ป่วยในรอบ 14 วันแบบประปรายในวงจำกัดไม่เกิน 5 ราย ต่อสัปดาห์ สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี
และกลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องมากว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา