- 20 ส.ค. 2563
ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต “ไซซะนะ” พร้อมพวกอีกราย
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ หมายเลขดำ อย.2833/2560 ที่พนักงานอัยการคดียาเสพติด 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายไซซะนะ แก้วพิมพา อายุ 42 ปี (XAY SANA KEOPIMPHA) สัญชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) , นายชุมพร พนมไพร อายุ 45 ปี และนายรัชพล หรือกิมเล้ง รัฐสพลพกรณ์ อายุ 33 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันสมคบกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมียาบ้า ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 , พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91
อัยการโจทก์ ฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 16 ก.ย.2558 จำเลยที่ 1-2 กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง สมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปโดยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการเครือข่ายยาเสพติด โดยจำเลยที่ 1 กับพวกที่อยู่ใน สปป.ลาว ร่วมกันจัดหาเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า และจัดหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลักลอบขนส่งลำเลียงยาเสพติดและจัดหารถยนต์สำหรับซุกซ่อนยาเสพติดจำนวน 2,381,400 เม็ด ไปส่งให้กับเครือข่ายทางภาคใต้ของไทย และมาเลเซีย
ระหว่างวันที่ 17 - 22 ส.ค. 2559 จำเลยทั้งสาม ยังร่วมกันสมคบกันลักลอบส่งยาบ้าอีกจำนวน 1 ล้านเม็ด ส่งให้เครือข่ายทางภาคใต้โดยติดต่อกับนายไซนุเด็ง มะ ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำหน้าที่ธุรกรรมการเงินรับโอนเงินค่ายาเสพติดจากนายไซนุเด็งหลายครั้งหลายหน จำนวน 144 ล้านบาท ไปส่งมอบให้เพื่อนของจำเลยที่ 1 ที่ สปป.ลาว อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมพวกจำเลยได้พร้อมของกลางหลายรายการทั้งยาเสพติด , รถกระบะที่ใช้กระทำผิด , โทรศัพท์มือถือ เหตุเกิดที่ สปป.ลาว , จ.นครพนม , จ.อุดรธานี , จ.สงขลา และอีกหลายพื้นที่เกี่ยวพันกัน
ชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1-2 ไม่ได้รับการประกันตัว โดยถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ส่วนจำเลยที่ 3 ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ซึ่งวันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ 1-2 มาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ส่วนจำเลยที่ 3 เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับมารดา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2561 โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วเห็นว่า ในส่วนของข้อกล่าวหาสมคบกับนายรัชศักดิ์ ชำนาญกุล (ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีในศาลอาญาแล้ว) ค้ายาบ้าจำนวน 2,381,400 เม็ด ที่มีนายวิทยาหรือวิท โสภา เป็นผู้ขับรถยนต์ขนส่งไปที่ประเทศมาเลเซีย ช่วงเดือน ก.ย.2558 นั้น ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายเบิกความตามที่ได้รับฟังข้อเท็จจริงมาจากบุคคลอื่นที่ให้การซัดทอดมา ขณะที่โทรศัพท์ที่ตรวจยึดได้ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า ได้ติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้ พยานหลักฐานโจทก์ จึงมีเพียงคำซัดทอดที่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่น
แม้จะมีข้อมูลการติดต่อโทรศัพท์ แต่ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีการติดต่อถึงจำเลยที่ 1-2 พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควร ศาลจึงยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ส่วนข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 สมคบกับพวกนายศักดาหรือโหน่ง อัครศักดิ์ศรี และนายวิวัฒนชัย หรือเอ๋ เดชสหโรจนธร (ทั้งสองถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดียาเสพติดหมายเลขดำ อย.3226/2559 ที่ศาลจังหวัดชุมพรพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดง 363/2560 แล้ว) กระทำความผิดเกี่ยวกับยาบ้าจำนวน 1 ล้านเม็ด และจำเลยที่ 2 มียาบ้า 1 ล้านเม็ดดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น โจทก์มีพยานหลักฐานการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์แสดงการติดต่อระหว่างจำเลยที่ 1-2 กับนายศักดา และนายวิวัฒนชัย ในเดือน ส.ค.2559 ก่อนเกิดเหตุที่นายศักดา และนายวิวัฒนชัย ถูกจับกุมในวันที่ 25 ส.ค.2559
ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์ติดต่อสั่งการจากฝั่ง สปป.ลาว และให้จำเลยที่ 2 กับพวกจัดหารถกระบะมือสองยี่ห้อมาสด้า ตรงกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายศักดาและนายวิวัฒนชัย ที่ว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ติดต่อโทรศัพท์มาและพาไปพบจำเลยที่ 1 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ช่วงเช้าของวันที่ 20 ส.ค.2559 กระทั่งเย็นวันที่ 21 ส.ค.2559 จำเลยที่ 2 ได้นำรถกระบะมาส่งให้ ขณะที่เมื่อถูกจับกุมตรวจค้นก็พบยาบ้าซุกซ่อนในรถกระบะ ขณะที่ผลการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ระบุตำแหน่งขณะใช้บริเวณ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และด่านตรวจคนเข้าเมือง สอดคล้องกับคำให้การพยาน
พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่า “นายไซซะนะ” จำเลยที่ 1 สมคบกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วน “นายชุมพร” จำเลยที่ 2 รับฟังได้ว่าเป็นผู้นำรถกระบะไปดัดแปลงซุกซ่อนยาบ้า 1 ล้านเม็ดไว้ก่อนนำรถมาส่งให้กับนายศักดา และนายวิวัฒนชัย เพื่อไปส่งให้บุคคลอื่น “นายชุมพร” จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย
สำหรับ“นายรัชพล” จำเลยที่ 3 ที่ถูกกล่าวหารับโอนเงินค้ายาจากกลุ่มผู้ค้ายาประเทศมาเลเซียมาส่งให้นายสีสุก ดาวเรือง พวกที่อยู่ใน สปป.ลาวเพื่อให้ความสะดวกจำเลยที่ 1-2 สมคบค้ายานั้น แม้โจทก์จะมีเจ้าหน้าที่จากมาเลเซีย เบิกความถึงหลักฐานการรับโอนเงินกว่า 2 ล้านบาทแต่ตามทางนำสืบฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินจากการค้ายาบ้าจำนวน 1 ล้านเม็ดที่ฟ้องนี้ แต่น่าจะเป็นยาเสพติดอื่นจำนวน 200,000 แสนเม็ด ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องนอกสำนวนที่ไม่ได้ปรากฏในฟ้องนี้ศาลจึงไม่อาจนำมาพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ยังมีข้อสงสัยตามสมควร
ศาลจึงพิพากษา ให้ประหารชีวิต นายไซซะนะ และ “นายชุมพร” จำเลยที่ 1-2 คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความบางส่วนของจำเลยที่1-2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-2 ไว้ตลอดชีวิต และให้นับโทษนายไซซะนะต่อจากยาบ้าคดีแรกจำนวน 1.2 ล้านเม็ด ที่ศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตไปแล้วด้วย โดยพิพากษายกฟ้อง “นายรัชพล” จำเลยที่ 3
อัยการโจทก์ และจำเลยที่ 1,2 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วพิพากษาแก้ว่า นายไซซะนะ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานสมคบกันค้ายาเสพติดเพิ่มอีก 1 ฐานความผิดด้วย แต่ยังคงโทษประหารชีวิต คำให้การจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์อยู่บ้างในชั้นสอบสวนลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิต แต่คำให้การชั้นสอบสวนของ “นายไซซะนะ” มีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต
ส่วนจำเลยที่ 2 ยังจำคุกตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น ขณะที่จำเลยที่ 3 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะพิพากษาลงโทษได้ ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “นายไซซะนะ” ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2562 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาคดี อย.1642/2560 ให้ประหารชีวิต “นายไซซะนะ” ฐานนำเข้ายาบ้า จำนวน 1.2 ล้านเม็ด เข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตอีกคดีด้วย