5 ทางออก ผู้ป่วยในสังกัด คลินิก-รพ. โดนยกเลิกสัญญาบัตรทอง

5 ทางออก ผู้ป่วยในสังกัด คลินิก-รพ. โดนยกเลิกสัญญาบัตรทอง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณียกการเลิกสัญญาการให้บริการสาธารณสุขของคลินิกชุมชนอบอุ่น และโรงพยาบาลที่กระทำผิดสัญญาในการเบิกจ่ายเงินกองทุน 64 แห่ง ย้ำว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนกลุ่มที่สถานบริการสาธารณถูกยกเลิกสัญญา 800,000 คน ยังคงอยู่ และการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ กทม. เท่านั้น ต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบ   

 

5 ทางออก ผู้ป่วยในสังกัด คลินิก-รพ. โดนยกเลิกสัญญาบัตรทอง  

    ในช่วงที่ สปสช. กำลังดำเนินการจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่แทนหน่วยบริการเดิม เพื่อดูแลประชาชน จึงมีแนวทางให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุข ดังนี้

1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หรือมีแผนการรักษาพยาบาลกับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่ง

          - สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อเนื่องได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว ซึ่ง สปสช. ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการทุกแห่งว่าให้บริการสาธารณสุข และขอรับค่าใช้จ่ายเป็นกรณีผู้ป่วยสิทธิว่างมาที่ สปสช. โดยไม่ต้องเก็บเงินจากผู้ป่วย

2. สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีหนังสือส่งตัวเดิม เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ

          สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับ-ส่งต่อเดิมได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว แต่หากโรงพยาบาลรับ-ส่งต่อเดิมนั้นถูกยกเลิกสัญญาด้วย ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

3. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

          ประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือหากเป็นภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านได้

4. ผู้ป่วยที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ถูกประกาศยกเลิกสัญญาแต่ยังไม่สิ้นสุดแผนการรักษา

          ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะใช้สิทธินอนรักษาต่อเนื่องได้จนอาการดีขึ้น แพทย์พิจารณาแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยโรงพยาบาลยังเบิกค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยกลุ่มนี้มายัง สปสช. ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

5. ผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหรือแอดมิตเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2563 กับโรงพยาบาลที่ถูกบอกยกเลิกจำนวน 7 แห่ง

          ผู้ป่วยสามารถแจ้งชื่อ วันนัดผ่าตัด และเบอร์โทรศัพท์ มาที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยบริการให้ได้รับการรักษา และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามทางสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง