- 17 ก.ค. 2564
ถอดทุกคำพูด หมอประสิทธิ์ ในคลับเฮาส์ ชัดๆ ไทยต้องหยุดสั่งซิโนแวค บอกเหตุผลได้วัคซีน mRNA ล่าช้า เพราะชะล่าใจ?
กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนแรงในโลกออนไลน์อย่างมาก ภายหลังจากที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ออกมาพูดใน คลับเฮาส์ ถึงเรื่องวัคซีนโควิด ที่ได้การกระจายวัคซีนไฟเซอร์สู่บุคลากรด่านหน้า รวมถึงการนั่งในบอร์ดของสยามไบโอไซเอนซ์ แน่นอนว่า เรื่องนี้มีปมเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับวัคซีนปะปนอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดดราม่าต่างๆ เนื่องจากมีประชาชนเข้ามาฟังมากกว่า 20,000 คน
หมอประสิทธิ์ได้ยอมรับสารภาพว่า ประเทศไทยตอนนี้ต้องรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดียเกินกว่า 50 % แล้ว ซึ่งการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มจะไม่เพียงพอที่จะต้านทานเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้ ทว่าไทยกลับไปเสียเวลากับการพิจารณาของ ศบค. ชุดเล็กถึง 3 อาทิตย์
เรื่องวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้จากสหรัฐอเมริกานั้น ตอนแรกได้วางแผนว่า กลุ่มเสี่ยงต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อน แต่แล้วต้องมาพิจารณาแผนใหม่ ซึ่งทาง อาจารย์หมอ ได้มีการเสนอให้นำส่วนนี้ประมาณ 6-7 แสนโดสมาแบ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า
สำหรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้น พร้อมทั้งยืนยันว่าฉีดได้ทั้งวัคซีนแบบ mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) และแบบ ไวรัลเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) โดยจะเปิดให้บุคลากรเลือกได้เลยว่าจะรีบวัคซีนตัวไหน และไม่บังคับว่าต้องฉีดแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง ก่อนหน้านี้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ และวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส
โดยจะฉีดให้กับด่านหน้าของศิริราชทั้งหมดกว่า 22,731 คน และจะมาถึงไทยในปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการฉีดให้ครบทุกคน แต่นักศึกษาที่ขึ้นคลินิก ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ จะได้รับก่อน อีกทั้งทางศิริราชมูลนิธิ ยังจ่ายเงินไปแล้ว 26 ล้านบาท เพื่อสั่งวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทย 20,000 โดส
หมอประสิทธิ์ ยังได้ยืนยันสำหรับประชาชนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกาไปแล้วว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วไม่ต้องฉีดซ้ำ ซึ่งการได้รับแอสตราเซนเนกาครบ 2 โดส สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ ซึ่งทาง หมอประสิทธิ์ เองก็ฉีดแอสตราเซนเนกาเช่นกัน ไม่ได้รอเข็ม 3
อาจารย์หมอศิริราชกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้วัคซีนที่ประเทศไทยมีนั้น ไม่ได้เยอะมาก อย่างคนกลุ่มเสี่ยงคืออายุ 60 ปีขึ้นไปและคนที่มี 7 โรคร้าย ยังฉีดวัคซีนไม่ได้ถึง 20% ซึ่งหากมีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้วค่อยมาคุยกัน
มาถึงประเด็นเรื่อง ซื้อวัคซีนเข้ามาช้านั้น ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยจากโครงการประเมินวัคซีนโควิด 19 และที่ปรึกษาเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีนจากโครงการอนามัยโลก เคยบอกว่าปลายปี 2564 จะผลิตวัคซีนได้มากกว่า 20,000 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้วัคซีนเป็นตลาดของผู้ซื้อ แต่ในความเป็นจริง ตอนนี้น่าจะได้แค่ 12,000 ล้านโดส จากประชากรโลกทั้งสิ้นกว่า 7,800 ล้านคน ฉะนั้นยังไงก็ไม่น่าพอ เพราะถ้าให้เพียงพอต้อง 15,000 ล้านโดส ดังนั้นตลาดจึงเป็นตลาดของผู้ขาย ไปซื้อตอนนี้ก็ไม่มีให้
ในส่วนเรื่องของ วัคซีน ซิโนแวค 2 เข็มไม่เพียงพอต่อการต่อต้านโควิดสายพันธุ์เดลตานั้น หมอประสิทธิ์ ชี้แจงว่า ทาง ศบค. ยอมรับแล้วว่าวัคซีนดังกล่าวเอาสายพันธุ์เดลตาไม่อยู่ แต่ที่ก่อนหน้านี้ มีเอกสารหลุดถึงกรณีไม่ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้ด่านหน้า เพราะจะแก้ตัวเรื่องซิโนแวคยากขึ้นนั้น หมอประสิทธิ์ชี้แจงว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่เป็นแค่ที่ปรึกษาเท่านั้น
แต่ตนได้ย้ำเตือนเรื่องสายพันธุ์เดลตามาตลอด และเราต้องมีโดสที่เป็นบูสเตอร์ ซึ่งทาง ศบค. ก็ยอมรับข้อเสนอการฉีดเข็ม 3 นั่นหมายความว่าศบค. ก็ยอมรับแล้วว่า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไม่เพียงพอต้าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งปีก่อนที่สั่งซิโนแวคมาเนื่องจากยังไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิด และตอนนั้นสายพันธุ์อู่ฮั่นแค่ซิโนแวคเอาอยู่ แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องฉีดวัคซีนผสมนั้น หมอประสิทธิ์ อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีนในมือ และต้องทำให้ได้เร็วที่สุดที่จะป้องกันสายพันธุ์เดลตา โดยมีงานวิจัยมาจาก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือจุฬาฯ กลุ่มสองคือกรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องบอกว่า วัคซีนซิโนแวคสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน humoral immunity ได้ดี แต่น้อยมากที่จะกระตุ้น CMI (cell-mediated immunity) ซึ่งวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์
และ mRNA สามารถกระตุ้น CMI ได้ดี จึงจำเป็นต้องฉีดทั้งซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา ซึ่งฉีดซิโนแวคก่อน จากนั้น 3 - 4 อาทิตย์ถึงจะฉีดแอสตราเซนเนกา และผลออกมาตรงกันคือทั้งจุฬาฯ และกรมวิทย์ฯ เราจึงเสนอ ศบค. เข้าไปแบบนี้ และจะได้เริ่มแบบนี้ก่อน ส่วนใครที่ได้แอสตราเซนเนกาเข็มแรก เข็มต่อไปก็ยังเป็นแอสตราเซนเนกาเหมือนเดิม ตอนนี้ทางเราก็ทะเลาะกันกับแอสตราเซนเนกาเหมือนกัน เพราะทางนั้นเอาวัคซีนไปให้อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เราเป็นแค่ผู้ผลิตเท่านั้น
ในช่วงตอนหนึ่งมีนักศึกษาแพทย์ที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา ได้พูดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ก่อนจะถามว่า ทำไม่ไทยถึงไม่ทิ้งวัคซีนนี้ทิ้งไปเลย แล้วสั่งไฟเซอร์เข้ามาแทน ซึ่งทางคุมหมอได้ยอมรับและตอบคำถามนี้อย่างไม่ลังเลว่า
"ไม่ได้คัดค้านเรื่องไฟเซอร์มีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่พอไปดูข้อมูลย้อนหลังถึงได้คำตอบว่า ช่วงแรกที่มีการสั่งวัคซีนนั้น ไม่ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ซึ่งช่วงที่ควรจะสั่งวัคซีน mRNA คือสั่งเมื่อตอนที่ทดลองเฟส 3 แต่ตอนนั้น ทั้งอเมริกาและแคนาดา สั่งวัคซีนจากไฟเซอร์ 3 เท่าของจำนวนประชากร แต่สำหรับไทยยังถือว่า ควบคุมสถานการณ์ได้ดี จึงไม่คิดว่าต้องมีความจำเป็นไปติดต่อวัคซีนไว้ก่อน"
หมอประสิทธิ์อธบายต่อไปว่า หลังจากนั้นสถานการณ์ในบ้านเรากลับยิ่งรุนแรงมากขึ้น จึงทำให้ประเทศที่จองวัคซีนชนิด mRNA ไปนั้นได้ของก่อน ไทยจึงต้องนำเข้าซิโนแวค และแอสตราเซนเนกาที่เข้ามาตอนแรก เนื่องจากเราผลิตไม่ได้ แต่วัคซีนแบบ mRNA ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจ แต่ติดต่อผ่านท่านผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่อเมริกา และเขาบอกว่าวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาได้ 20 ล้านโดสในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งจะเข้ามาทีแรก 10 ล้านโดสก่อน และจะทยอยมาอีก 10 ล้าน แต่เราก็ขอตัดเขามาก่อน 1.5 ล้านโดส
นอกจากนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้บอกอีกว่า เห็นด้วยที่จากนี้ไม่สมควรต้องสั่งซิโนแวคอีก เพราะอย่างไรในอนาคตก็จะมีแต่แพลตฟอร์ม 2 อันนี้และแพลตฟอร์มไวรัลเวกเตอร์ ก็ไม่ได้มีแค่แอสตราเซนเนกา แต่จะมีจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ สปุตนิก วี ที่ติดต่อเอาไว้ แต่ สปุตนิก วี ขอเอกสารมาดูเพื่อให้ผ่าน อย. แต่เอกสารเป็นภาษารัสเซีย ซึ่งก็ต้องนำมาแปล และมีประเด็นที่ฉีดไปแล้วที่บราซิล แต่ไวรัสยังแพร่กระจายได้
เห็นด้วยที่ว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยืดเยื้อ เพราะมันมีลำดับขั้นตอนมากมาย และนี่ก็คือบทเรียน ซึ่งถ้าปีหน้าพูดถึงวัคซีนรุ่น 2 ในตอนนี้เราก็ควรที่จะติดต่อได้แล้ว ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซนเนกา อาจจะวางเงินไปก่อน 120 ล้าน ตนยอมรับว่าที่ผ่านมาเราสั่งวัคซีนช้า เพราะเราคิดว่าประเทศไทยดีมาก เราเลยไม่สนใจในการรีบสั่ง ซึ่งการคาดเดาเหตุการณ์ไว้ว่าตอนนี้วัคซีนล้น มันคือตลาดของผู้ซื้อ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ให้ไปดูตัวเลขได้เลย
ทั้งนี้ หมอประสิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เราควรมองวัคซีนที่เป็นโปรตีนเบสอย่าง Novavax ด้วย แต่ตอนนี้วัคซีนตัวนี้ยังไม่ผ่าน อย. ของสหรัฐอเมริกา และตนเห็นด้วยว่าต้องนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามา และยังเห็นด้วยว่าเราต้องนำวัคซีนเข้ามาหลายๆ แพลตฟอร์ม
ส่วนประเด็นเรื่องนายอนุทิน ชาญวีระกูล ที่เคยบอกว่า ที่ปรึกษาระดับอาจารย์หมอ 3 คน ที่สามารถกำหนดได้ถึงแนวทางวัคซีน ได้แก่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นั้น ทั้ง 3 คน เข้ามาทีหลังก่อนที่จะมีการจัดหาวัคซีน
หมอประสิทธิ์ยังขอชี้แจงอีกหนึ่งเรื่องว่า ตนไม่ได้นั่งเป็นกรรมการ ศบค. แต่จะถูกเรียกไปเมื่อต้องการรับฟังความคิดเห็น และตนไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของ สยามไบโอไซเอนซ์ แต่เป็นบอร์ดจริง ไม่มีเงินเดือน ซึ่งที่เข้าไปเพราะอยากผลิตยาในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้
ส่วนเรื่องการขัดผลประโยชน์ต้องบอกว่า รัฐบาลไทยซื้อวัคซีนแอสตราเซนเนกา จ่ายเงินให้บริษัทโดยตรง และบริษัทก็มาจ้าง SBS ผลิต แต่ที่ผลิตเพราะอยากได้ความรู้ต่อไปในอนาตต เพื่อที่จะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ซึ่งตนเข้าไปนั่งเพราะโดนดึงเข้าไป เขาไปช่วยคิดว่าจะผลิตยาอะไรที่ได้ราคาถูกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังได้ยืนยันทิ้งท้ายว่า ตนไม่ขอเรียก ซิโนแวค ว่าเป็น "วัคซีนแบบคุณภาพต่ำ" เนื่องจากซิโนแวคมีประสิทธิภาพดี เมื่อไม่ใช่สายพันธุ์เดลตา แต่ ณ วันนี้มันไม่เพียงพอ อีกทั้งก่อนหน้านี้เราคงได้ยินเรื่องตัวเลข 40 ล้าน ซึ่งเราเบรกไปแล้ว หากเอาวัคซีนเข้ามาไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไรก็ต้องเบรก