- 21 ส.ค. 2564
สธ.พร้อมด้วย ศิริราช แถลงผลการศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสลับชนิดและการกระตุ้นเข็มที่ 3
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า สายพันธุ์เดลต้าดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงหาแนวทางการฉีดวัคซีนที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น โดยการฉีดสลับชนิดและฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาก่อนหน้านี้ จึงได้ทำการวิจัย 2 โครงการ คือ
1.การฉีดสลับหรือฉีดไขว้ในคนแข็งแรงทั่วไป และวัดระดับภูมิต้านทานชนิด IgG พบว่า การฉีดด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SA) ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 24 หน่วย BAU/mL เป็น 1,354 หน่วย แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยซิโนแวค (AS) ภูมิคุ้มกันขึ้นเล็กน้อย จาก 147 หน่วย เป็น 222.47 หน่วย ซึ่งการฉีดสลับด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผลดีกว่าการฉีดแบบไม่สลับ และสูงกว่าภูมิคุ้มกันของผู้หายป่วยของการระบาดในช่วงปลายปี 2563 แต่ยังต่ำกว่าไฟเซอร์ 2 เข็ม ซึ่งภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,900 หน่วย
2.การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ลดลง พบว่าเมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 52 หน่วย เป็น 1,558 หน่วย ซึ่งได้ผลภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ซึ่งเพิ่มจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย
สรุปได้ว่า การฉีดซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 2 หรือกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หลังได้ซิโนแวค 2 เข็ม จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมากทั้งคู่ จะทำให้ป้องกันเชื้อเดลตาได้ดี สำหรับการฉีดซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ หรือการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ กำลังทำการศึกษาคาดว่าจะทราบผลใน2-3 สัปดาห์นี้
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วิธี PRNT เป็นวิธีมาตรฐานโลกในการตรวจภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 โดยใช้เลือดจากอาสาสมัครผู้ที่รับวัคซีนมาเจือจางซีรัมให้มีความเข้มข้นระดับต่าง ๆ แล้วนำไปใช้กับไวรัสจริง โดยต้องกำจัดไวรัสได้ 50% ซึ่งหากมีวัคซีนอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม และยังดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย