- 24 ก.ค. 2565
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ให้ความรู้ติดโควิดโอมิครอนล่าสุด ต้องกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย ควรตรวจ ATK ซ้ำหรือไม่
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิดติดเชื้อโอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายราย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนว่าจะมีการระบาดรุนแรงภายในประเทศอีกครั้งหรือไม่ อีกทั้งยังเกิดข้อสงสัยว่าในกรณีที่รักษาตัวหายจากโควิดแล้ว ควรกักตัวกี่วันและต้องตรวจ ATK ซ้ำหรือไม่ ติดโควิดกักตัวกี่วัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เรื่องการกักตัวล่าสุด โดยระบุข้อความว่า คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ทำงาน โรงงาน และสถานประกอบการ
ตามความรู้วิชาการแพทย์ปัจจุบันเกี่ยวกับ โอไมครอน Omicron หากมีคนติดเชื้อ กักตัวแค่ 5 วัน โอกาสหลุด 50% 7 วันหลุด 25% 10 วัน โอกาสหลุดราว 10% แต่หาก 14 วัน ก็ดูจะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม มักทำได้ยาก เพราะกระทบต่อระบบงานมาก
ดังนั้น หากทางสถานที่ทำงานต่างๆ สามารถบริหารจัดการกำลังคนได้ ให้แยกกักตัวไปอย่างน้อย 10 วันย่อมดีที่สุด แต่หากไม่ไหว หรือจำเป็นมากจริงๆ ก็ควรให้ความรู้ และ/หรือฝึกอบรมบุคลากรที่ติดเชื้อเกี่ยวกับการป้องกันตัวให้ดี และให้กักตัว 7 วัน และตรวจ ATK ซ้ำ หากได้ผลลบ ก็มาทำงานโดยป้องกันอย่างเคร่งครัดอีกอย่างน้อย 7 วัน
ส่วนแนวปฏิบัติในสถานที่ทำงานสำหรับทุกคนในสถานการณ์ระบาดหนักขณะนี้ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีการถ่ายเทอากาศดี การไม่รับประทานอาหารร่วมกัน และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนั้นมีความสำคัญมาก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ หมอธีระ ได้เคยเปิดงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อ 29 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาที่ยังตรวจพบเชื้อ ปริมาณเชื้อ และเพาะเชื้อขึ้น หลังจากติดเชื้อโควิด-19 จากข้อมูลวิจัยจะเห็นได้ว่า การกักตัว 5 วันหลังการติดเชื้อนั้น ไม่เพียงพออย่างแน่นอน และยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังสามารถเพาะเชื้อได้ถึงอีกเกือบ 50% และยังมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบระดับสูง ถ้าจะปลอดภัยตามข้อมูลเรื่องปริมาณเชื้อ และอัตราการเพาะเชื้อขึ้น คือราว 2 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากด้วยความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แรงงาน และการใช้ชีวิตในสังคม
ดังนั้น หากผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตหรือทำงานก่อนเวลา 7-10 วัน ก็ต้องตระหนักเสมอว่าอาจนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นได้ จึงควรป้องกันตัวเข้มๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันต่อจนกว่าจะครบ 2 สัปดาห์เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ไม่ถอดหน้ากากเวลาพบปะ ทำงาน หรือพูดคุยกับผู้อื่น รักษาระยะห่าง และที่สำคัญมากคือ ไม่ไปร่วมวงกินข้าวในที่ทำงาน ไม่ไปร่วมวงปาร์ตี้กินดื่มสังสรรค์ หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น หากช่วยกันปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อตามสถานที่ต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดปัจจุบันได้บ้างไม่มากก็น้อย
ขอบคุณ Thira Woratanarat
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline