- 26 ก.ค. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเผย อาการคงค้างหรือเกิดอาการผิดปกติภายหลัง (Long COVID) นั้นมีมากถึง 62 อาการ
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุข้อความว่า
26 กรกฎาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 485,232 คน ตายเพิ่ม 1,018 คน รวมแล้วติดไป 575,630,886 คน เสียชีวิตรวม 6,404,320 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ บราซิล และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 76.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.7
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...Long COVID ในคนที่ติดเชื้อโดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
งานวิจัยล่าสุดโดย Subramanian A และทีมจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวานนี้ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผลการศึกษานี้เป็นที่น่าสนใจ และช่วยเติมเต็มความรู้ทางการแพทย์ เพราะโฟกัสที่จะศึกษาอาการผิดปกติของ Long COVID ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ศึกษาในประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีประวัติติดเชื้อมาก่อนตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 486,149 คน และเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีประวัติการติดเชื้อมาก่อนจำนวน 1,944,580 คน
สาระสำคัญที่พบคือ
ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อมาก่อน และมีอาการคงค้างหรือเกิดอาการผิดปกติภายหลัง (Long COVID) นั้นมีมากถึง 62 อาการ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหา Long COVID มากขึ้นได้แก่ เพศหญิง, ยากจน, น้ำหนักเกิน/อ้วน, การมีประวัติสูบบุหรี่, และการมีโรคประจำตัวต่างๆ
ที่น่าสนใจคือ อาการ Long COVID ที่พบนั้น นอกจากที่เราทราบกันดีเรื่องความผิดปกติของทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า มีปัญหาด้านความจำและสมาธิแล้ว การวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นทำให้มีความเสี่ยงต่อเรื่องผมร่วง (hair loss) มากกว่าไม่ติดเชื้อถึง 4 เท่า
และยังเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านระบบสืบพันธุ์หลากหลายอาการ ได้แก่ เพศหญิงจะมีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ และสิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอดออกมาผิดปกติ
แต่เพศชายนั้นดูจะน่ากังวล เพราะเสี่ยงต่อปัญหานกเขาไม่ขันมากขึ้น 1.26 เท่า, หลั่งอสุจิยากขึ้น 2.63 เท่า, และความต้องการทางเพศลดลง 2.36 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
เพราะการติดเชื้อไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้
ที่สำคัญคือ จะเกิดปัญหา Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน กระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาวได้
เป็นได้ทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มอาการไม่ว่าจะติดเแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมากก็ตาม
เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ระวังการกินดื่มใกล้ชิดร่วมกับผู้อื่น
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก
อ้างอิง
Subramanian A et al. Symptoms and risk factors for long COVID in non-hospitalized adults. Nature Medicine. 25 July 2022.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline