- 03 ก.ค. 2567
ย้อนอาการป่วย "เสธ.วีร์ โรจนวงศ์" ทหารประจำกรมทหารสื่อสารฯ ป่วยโรครักษาไม่หาย คาดเป็นสาเหตุเสียชีวิตในวัย 53 ปี
จากที่ เสธ.วีร์ หรือ พ.อ.วีร์ โรจนวงศ์ ทหารประจำกรมทหารสื่อสาร ช่วยราชการกองส่งกำลังบำรุง กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก เจ้าของเพจ เสธ.วีร์ ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ เสียชีวิตกะทันหันในวัย 53 ปี ซึ่งเมื่อปี 2018 นั้น ว่าตนเองป่วยด้วยโรคที่ไม่มีทางรักษอย่าง โรค SCA3 หรือ โรคเสียการทรงตัว และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุ เสธ.วีร์ เสียชีวิต จากไปในครั้งนี้
สำหรับ โรคเสียการทรงตัว หรือ Spino Cerebellar Ataxia 3 (SCA3) นี้เกิดจากกรรมพันธุ์และรักษาไม่หาย เกิดความลำบากในการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ซึ่งพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการทรงตัวผิดปกติ มีสาเหตุมาจาก 2 อวัยวะที่ทำงานผิดปกติ คือ หู และสมองที่ควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดการทรงตัวไม่ดี
จนเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ลำบาก และเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหกล้มจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับความผิดปกติจากหูนั้น เนื่องจากหูทั้ง 2 ข้างเปรียบเสมือนตาชั่ง เป็นอวัยวะในการช่วยการทรงตัว หากมีความไม่สมดุลจะทำให้เกิดการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ โดยปัญหาการทรงตัวที่เกี่ยวกับหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน การอักเสบในหูชั้นใน เป็นต้น หากปรับสมดุลในหูได้อาการก็จะดีขึ้น หรือหากรักษาก็จะกลับมาหายเป็นปกติได้
พญ.ทัศนีย์ อธิบายต่อไปว่า ส่วนความผิดปกติจากสมองและระบบประสาทนั้น ส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวคือ สมองน้อยหรือซีรีบัม ซึ่งจะรับสัญญาณมาจากหูเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว และมีส่วนเชื่อมโยงสมองน้อยไปยังสมองใหญ่ ซึ่งหากมีปัญหาที่สองส่วนนี้ก็จะทำให้เกิดการทรงตัวที่ไม่ดีได้ โดยปัญหาการเคลื่อนไหวและทรงตัวจากสมอง
เช่น โรคพาร์กินสัน หลอดเลือดสมองตีบตรงสมองน้อย การอักเสบของส่วนเชื่อมโยงสมองน้อยและสมองใหญ่ เป็นต้น สำหรับโรคสูญเสียการทรงตัว Spino Cerebellar Ataxia (SCA) เกิดจากความเสื่อมของสมองน้อย สาเหตุมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ลักษณะเด่นคือ จะถ่ายทอดไปยังลูกแบบ 50:50 ทำให้มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ถือเป็นโรคที่พบได้น้อย อัตราการเกิดอยู่ที่ 1 ในล้านคน โดยโรคนี้มีทั้งหมด 11 ไทป์ ซึ่งกรณีข่าวดังกล่าวผู้ป่วยเป็นไทป์ที่ 3 หรือ SCA3
พญ.ทัศนีย์ ยังระบุต่อไปอีกว่า โรค SCA ได้แต่ละชนิดหรือแต่ละไทป์นั้น จะมีอาการเรื่องการทรงตัวเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันไปเล็กน้อยในเรื่องของเวลาที่เกิดโรค เช่น บางชนิดจะเป็นตอนอายุน้อย บางชนิดเป็นตอนอายุมาก โดยบางกลุ่มอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือการมองเห็นผิดปกติร่วมด้วย
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากเป็นการเสื่อมของสมองน้อยและส่วนเชื่อมสมอง ซึ่งจะเสื่อมไปเรื่อยๆ การรักษาจึงทำได้เพียงการประคับประคองและชะลอความเสื่อมของสมอง เช่น การทำกายภาพบำบัด การใช้ยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีการรับประทานวิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนท์ เพื่อให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยลง เป็นต้น
พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า โรคนี้ไม่ได้พบบ่อย ดังนั้น จึงไม่ได้มีการตรวจคัดกรอง แต่หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติเรื่องการสูญเสียการทรงตัวก็สามารถไปตรวจพันธุกรรมได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ แต่หากตรวจพบว่าเป็นก็คือเป็นเลย ซึ่งอยู่กับว่าอยากรู้โรคเร็วมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม โรค SCA เมื่อสมองฝ่อไปมากๆ อาจทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้นั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ เรื่องของการเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไหวช้าๆ ไม่รีบ ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า หรือวอล์กเกอร์ และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบแจ้งแพทย์ที่ดูแล
ข้อมูลจาก สสส.