- 11 ก.ย. 2567
หมอวรงค์ ร้อง กกต. พรรคเพื่อไทยโดนทักษิณครอบงำ เปิดคำร้องฉบับเต็มเป็นข้อๆ จี้ กกต.ดำเนินการทางกฎหมายต่อนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย
11 ก.ย.67 เวลา 10.00 น. หมอวรงค์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เดินทางมาที่สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นร้องกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทย และเพื่อไทยยินยอมให้ครอบงำ
โดย หมอวรงค์ ระบุว่า วันนี้ตนมายื่นเอกสารร้องเรียนในสองกรณีคือหนึ่งนายทักษิณ ครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบว่าด้วยรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในมาตรา 29 และประเด็นที่สองคือ พรรคเพื่อไทยยินยอมให้คนที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกพรรคมาครอบงำหรือชี้นำ
ซึ่งเป็นความผิดของพ.ร.บ.เดียวกันแต่มาตรา 28 เนื่องจากว่าสองเรื่องนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อมีคนครอบงำและอีกฝ่ายก็ยินยอมให้ครอบงำ ตนเชื่อว่าการครอบงำเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเมืองไทย เนื่องจากว่าผู้ปฏิบัติเป็นหุ่นเชิด แต่คนที่ครอบงำ คนชี้นำหรือคนครอบคลุมหากจะไปเจรจาหรือไปมีผลประโยชน์อะไรทางประชาชนคงไม่มีทางรู้ได้
ซึ่งวันนี้ที่ตนมายื่นนั้นเพราะต้องการปกป้องประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและปกป้องกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การที่ที่ตนมายื่นร้องนั้นมี 3 สาระสำคัญ คือ
1. นายทักษิณได้มีการเชิญชวนแกนนำบางส่วนของพรรคเพื่อไทยรวมทั้งนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด และพรรครวมรัฐบาลมาเจรจาพูดคุยกันแต่งตั้งรัฐบาลในวันที่ 14 สิงหาคมช่วงเย็นหลังจากที่มีกระแสข่าวว่านายเศรษฐา ทวีสินอดีตนายกรัฐมนตรีได้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป ซึ่งการพูดคุยในวันนั้นตามกระแสข่าวผ่านสื่อหลายสำนักจะมีการเสนอนายชัยเกษม เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ในวันต่อมามีการประชุมพรรคเพื่อไทยซึ่งมีการถกเถียงกันว่าจะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลเป็นนางสาวแพรทองทาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้นายทักษิณมีพฤติกรรมที่เข้ามาควบคุมครอบงำสมาชิกพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้
2. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายทักษิณ เดินทางไปที่ตึกชินวัตร 3 โดยอ้างว่ามาเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมพรรคเพื่อไทย และตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงคำถามว่าควรที่นางสาวแพรทองธาร จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้วย เห็นด้วยหรือไม่ แต่คำตอบของนายทักษิณ เป็นการชี้นำเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต่อการจะรับหรือไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดของนางสาวแพทองธาร
3. พฤติการณ์ของนายทักษิณ ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นายทักษิณ ได้ควบคุมครอบงำ ชี้นำ การตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการให้พรรคการเมืองใดเข้าร่วมรัฐบาล คือกรณีพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเกิดความแตกแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มของหัวหน้าพรรคคือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณกลุ่มหนึ่งและกลุ่มของเลขาธิการพรรคคือร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า จากการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ
แสดงให้เห็นชัดว่าพฤติการณ์ที่ผู้เป็นบิดาพึงให้คำปรึกษาแก่บุตร เพราะเป็นการชี้นำเพื่อให้พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคที่เป็นบุตร ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในการกำหนดบุคคลหรือพรรคการเมืองให้ร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความประสงค์ทางการเมืองของตน
ทั้งนี้ 3 เหตุผลหลักๆ ที่ตนมองว่าพฤติการณ์ของนายทักษิณเป็นการครอบคลุม ชี้นำ และตนอยากให้ทาง กกต.ดำเนินการทางกฎหมายต่อนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยต่อไป