- 14 พ.ย. 2567
"ยูเนสโก" ยกย่อง "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" เป็น 1 ใน 6 สนามบินที่สวยสุดในโลก ประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024)
"ยูเนสโก" ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ด้าน “อาคาร SAT-1” สุดปัง! หลังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดของโลก โชว์ความโดดเด่นด้านความงาม-ความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย จ่อประกาศผล 2 ธ.ค.นี้
สำหรับ 6 สนามบินที่เว็บไซต์ www.prix-versailles.com ได้ประกาศ 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่
1.อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย
2.อาคารผู้โดยสาร E ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกน (Logan International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา
3.อาคารผู้โดยสารที่ 2 ท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์
4.ท่าอากาศยานนานาชาติซายิด (Zayed International Airport) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
5.ท่าอากาศยานนานาชาติเฟลิเป้ แองเจเลส (Felipe Ángeles International Airport) ประเทศเม็กซิโก
6.ท่าอากาศยานนานาชาติแคนซัสซิตี้ (Kansas City International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024)
ทั้งนี้ ล่าสุดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในด้านความงาม ทั้งภายนอก และภายในอาคาร ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ
นอกจากนี้ ทอท. ยังได้มีการออกแบบที่สวยงาม โดยนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมานำเสนอ ประกอบกับการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวิถีชีวิต โดยมีผลงานการตกแต่งประติมากรรมชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกัน ภายในชั้น 3 ของอาคารฯ ได้รับการออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้ออกแบบเป็นสวนสัญจรที่จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย เป็นต้น
ในส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ ขณะที่ ห้องน้ำได้เสนออัตลักษณ์อันงดงามของแต่ละภาค มีภาพจิตรกรรม 4 ภาคของไทย ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน อีกทั้ง สุขภัณฑ์ทั้งหมด ยังใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำอีกด้วย