กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกัน "โนโรไวรัส" แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้

กรมควบคุมโรค เผยยอดผู้ป่วย "โนโรไวรัส" (Norovirus) ปี 2567 เปิดอากาารและวิธีป้องกัน แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้

สถานการณ์ "โนโรไวรัส" (Norovirus) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว "ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ" โดยในตอนหนึ่งได้เผยถึง สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทย

 

  กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกัน โนโรไวรัส แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้

ในปี 2566 ผู้ป่วย 689,954 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนปี 2567 จำนวนผู้ป่วย 742,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนการระบาดเพิ่มขึ้น เชื้อก่อโรคที่ตรวจพบส่วนใหญ่ มีการตรวจพบ

 

  • เชื้อแบคที เรียซาลโมเนลลา สูงสุด จำนวน 24เหตุการณ์ คิดเป็น 28.2 %
  • เชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล จำนวน 20 เหตุการณ์ 23.5 % 
  • เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซีเรียส  จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 %
  • โนไรไวรัส จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 %
  • เชื้อแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์  จำนวน 6 เหตุการณ์ 7.1 %  
  • และมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุเชื้อก่อโรคได้ จำนวน 29 เหตุการณ์  คิดเป็น  34.1%

 

สถานการณ์โนโรไวรัส

จากผลการดำเนินงานเฝ้าระวังเฉพาะเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Lab Surveillance) ที่พบมากที่สุด คือ

  • โรตาไวรัส 44.9 %
  • โนโรไวรัส จี 2 (Norovirus GII)  33.4% 
  • ซาโปไวรัส (Sapovirus) 7.1 %

 

ในส่วนของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส  ตั้งแต่ปี  2561-2567 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อ โนไรไวรัส จี 1 และ จี 2 จำนวน 729 ราย  ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี 21.6 % รองลงมา คือ 15-24 ปี 20.9 % และ 5-9 ปี 20.5 %

โนโรไวรัส เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อความร้อน และ น้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี โดยทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น คนส่วนใหญ่ ที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัสจะหายดีภายใน 1 - 3 วัน แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้ อีก 2 – 3 วัน


โนโรไวรัส มักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้ เชื้อสามารถเจริญได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อน ดังนั้นในช่วงฤดูหนาว มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้นได้


การติดต่อ-อาการโนโรไวรัส 

  • สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส  
  • การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนโนโรไวรัส 
  • การสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแล้วนำนิ้วที่ไม่ได้ล้างเข้าปาก
  • ระยะฟักตัว ประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง  
  • อาการท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว


การรักษา 

  • ไม่มียารักษาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทน ของเหลวที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำ


การป้องกันโนโรไวรัส

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ โดยล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร
  • รับประทานอาหารปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
  • ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมคลอรีน
  • เด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ