จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบินสุวรรณภูมิ

ตำรวจไซเบอร์ ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบินสุวรรณภูมิขณะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย

วันที่ 10 ม.ค.68 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พ.ต.ท.คมคิด บำเพ็ญบุญ สว.กก.4 บก.สอท.2 นำกำลังเข้าจับกุมนายกฤษณะ นัน ไร อายุ 34 ปี สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5696/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.2567 รวบตัวการสำคัญแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติคาสนามบิน

 

จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบินสุวรรณภูมิ

 

จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบินสุวรรณภูมิ

 

ในความผิดฐาน "สมคบกันตั้งแต่ สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน" โดยจับกุมได้ภายในอาคารผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะเดินทางเข้ามาประเทศไทย

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า สำหรับในคดีนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 67 มีผู้เสียหายเป็นหญิงสูงอายุสัญชาติอเมริกันพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาเรื่องการล็อกอินเข้าบัญชีอีเมล์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft Account) จึงได้เข้าค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของทีมช่วยเหลือจากบริษัทไมโครซอฟต์ผ่าน Google Search และได้พบหมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์หนึ่ง จึงได้ทำการติดต่อ จากนั้นได้มีบุคคลปลายสายซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงคนอินเดีย ได้แอบอ้างว่าเป็นทีมช่วยเหลือของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยได้ทำทีให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งโปรแกรมควบคุมการเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงทำตามที่คนร้ายแนะนำ และกดอนุญาตให้คนร้ายแก้ไขข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ 

จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบินสุวรรณภูมิ

 

โดยคนร้ายแจ้งว่าได้แก้ไขบัญชีอีเมล์ให้เสร็จแล้ว ทางไมโครซอฟต์จะ Refund เงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 49.99 USD แต่คนร้ายอ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายเกินไป จำนวน 49,999 USD คนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินคืน เนื่องจากใส่ตัวเลขจำนวนเงินผิด หากผู้เสียหายไม่โอนเงินคืน คนร้ายต้องถูกไล่ออกจากบริษัท ผู้เสียหายสงสารและหลงเชื่อ สุดท้ายจึงโอนเงินไปยังบัญชีนิติบุคคลของธนาคารหนึ่งในประเทศไทย จำนวน 49,840 USD หรือประมาณ 1,738,916 บาท นอกจากนี้ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเรียบร้อย คนร้ายยังได้ส่งข้อความเยาะเย้ยผู้เสียหายว่าถูกหลอกให้โอนเงิน

โดยทางผู้เสียหายได้ติดต่อธนาคารและแจ้งกับเจ้าหน้าที่ FBI ในสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทำให้ทราบว่าผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารจำนวน 2 บัญชี โดยคนร้ายได้ใช้โปรแกรมควบคุมระยะไกลโอนเงินของผู้เสียหายจากบัญชีธนาคาร A ไปยังบัญชีธนาคาร B จำนวน 49,999 USD  โดยผู้เสียหายไม่ได้ทำรายการโอนด้วยตนเองแต่อย่างใด ทำให้มียอดเงินเข้าบัญชีธนาคาร B คนร้ายจึงหลอกว่าโอนผิด แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินจากธนาคาร เข้าบัญชีคนร้ายที่อ้างว่าเป็นของบริษัทไมโครซอฟ กระทั่งทาง FBI สหรัฐอเมริการได้ประสานมายัง บช.สอท. เพื่อดำเนินการอายัดบัญชี และสืบสวนจับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง 

ต่อมาพ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พร้อมชุดสืบสวนได้สืบสวนจนพบหลักฐานว่า มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้ใช้บัญชีธนาคารที่จดทะเบียนโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด รับโอนเงินจากผู้เสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวการสำคัญที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดและใช้บัญชีธนาคารดังกล่าว เป็นคนสัญชาติอินเดียโดยคนอินเดียกลุ่มนี้ มักหลอกลวงคนไทยที่ต้องการกู้เงินหรือยืมเงินให้นำเอกสารส่วนตัวไปให้ จากนั้นจะนำเอกสารของคนไทย มอบให้ตัวแทนนายหน้าที่รับจดทะเบียนนิติบุคคลไปดำเนินการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยตัวแทนมีค่าดำเนินการจดทะเบียนจำนวน 7,000 บาท จากนั้นจะนำเอกสารนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าในการรับเงินจากเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ โดยบัญชีม้านิติบุคคลสามารถโอนเงินได้ครั้งละเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องยืนยันตัวตน และสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อโอนเงินง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อนิติบุคคล

จึงทำการสืบสวนพบความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารของ นายชาญ พุฒไทย กรรมการของ หจก.พัลเมตโต โดยในวันเกิดเหตุนั้น พบว่ามีการโอนเงินจาก หจก.ทินท์ เรียลตี้(บัญชีม้า) ไปยังบัญ ชีธนาคารของนายชาญ จำนวน 104,400 บาท เมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีนายชาญ พบว่ามีเงินในบัญชีถึง 1,000,048.96 บาท จึงได้อายัดบัญชีธนาคารดังกล่าว เพื่อส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังพบว่าบัญชีธนาคารของนายชาญ ได้ถูกใช้โอนเงินซื้อทองคำแท่งจากร้านทองแห่งหนึ่ง ย่านพาหุรัด กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยมีชายชาวอินเดียเป็นผู้ไปรับทองคำแท่งดังกล่าว จึงเชื่อว่าเป็นลักษณะการกระทำเป็นขบวนการและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่ากระทั่งวันที่ 20 มิ.ย.67 ตำรวจชุดสืบสวน กก.4 บก.สอท.2 พร้อม เจ้าที่ตำรวจกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท. นำหมายค้นศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 243/2567 ลง 19 มิ.ย. 67 เข้าทำการตรวจค้นบ้าน หลังหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.สามกอ อ.เสนา จว.พระนครศรีอยุธยา พบนายอาสวานิ กุมาร์ซิงห์ สัญชาติอินเดีย เป็นผู้ครอบครองและพักอาศัยอยู่กับแฟนสาวที่บ้านดังกล่าว ตรวจค้นภายในบ้าน พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบัตร ATM ซึ่งเป็นชื่อบัญชีธาคารที่ใช้กระทำผิดของผู้ร่วมขบวนการและของกลางอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19 รายการ จึงทำการยึดไว้ตรวจสอบ เพื่อหาหลักฐาน

จากการขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐาน สามารถแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดเป็นคนไทย 3 ราย ประกอบด้วย  นายชาญ พุฒิไท อายุ 69 ปี น.ส.ประนอม สร้อยพิมพ์สิทธิ์ อายุ 59 ปี กรรมการ หจก.ทินท์ เรียลตี้ และน.ส.สร้อย ไม้สนธิ์ อายุ 45 ปี กรรมการ หจก. ทินท์ เรียลตี้ ในความผิดฐาน “ยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีธนาคารไปใช้”

โดยทั้ง 3 ราย เบื้องต้นให้การว่าได้นำเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน ให้นายกฤษณะ นัน ไร  ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงทราบภายหลังว่าตนเองถูกนำหลักฐานไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคคล 

ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับนายกฤษณะ นัน ไร อายุ 34 ปี ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการรวบรวมข้อมูลบุคคลไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคล ซึ่งไหวตัวหลบหนีเดินทางกลับประเทศอินเดียไปก่อนหน้านี้ กระทั่งทราบข้อมูลว่านายกฤษณะ นัน ไร จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันนี้ จึงให้ตำรวจชุดสืบสวนเข้าจับกุมตัวไว้ได้คาสนามบิน เบื้องต้นให้การยอมรับว่ามีหน้าที่ขนทองคำแท่งจากไทยกลับไปขายที่อินเดีย เนื่องจากทองคำของไทยมีเปอร์เซ็นต์ของทองคำที่สูงกว่าในอินเดีย ตามคำสั่งของหัวหน้าขบวนการอีกคนที่ยังหลบหนีหมายจับอยู่นอกประเทศ