- 15 ม.ค. 2568
ผู้บริโภคที่ใช้มือถือ Oppo กู้เงินจากแอป ‘สินเชื่อความสุข’ กู้เงิน 80,000 สุดท้ายพีคหนัก เสียไป 700,000 บอกเลยเรื่องใหญ่มาก
เรียกได้ว่า ยังคงเป็นเรื่องให้ติดตามอย่างต่อเนื่องกับ แอปกู้นอกระบบ ที่ติดตั้งมากับโทรศัพท์มือถือ โดยล่าสุด เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า เรื่องเล่าวันนี้เป็นของผู้บริโภคที่ใช้มือถือ Oppo A53 รุ่น Android 12 ผู้ซึ่งได้รับโฆษณาเชิญชวนให้กู้เงินจากแอป ‘สินเชื่อความสุข’ โดยใช้ข้อความว่า “ลงทะเบียนถ้าเงินไม่พอใช้” ถ้าลงทะเบียนแล้วต้องกดยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลทางโทรศัพท์ และเมื่อผู้บริโภคกดเข้าไปในแอป สินเชื่อความสุข ก็พบว่าเป็นแพลตฟอร์มรวมคนปล่อยเงินกู้ ที่สามารถกู้เงินได้ทันที โดยไม่ต้องใช้หลักฐานอะไร
ผู้บริโภคเล่าว่า ตัวเองมีความจำเป็นต้องใช้เงินในขณะนั้นจึงตัดสินใจกู้เงินกับแอป ดังกล่าว หลังจากทำตามขั้นตอนต่าง ๆ จนเสร็จสิ้น ก็มีเงินโอนเข้าบัญชี แต่ไม่เต็มจำนวนที่ขอกู้ เช่น กู้ 10,000 บาท แต่ได้รับเงินเพียง 5,000 กว่าบาท โดยอ้างว่าเป็นการหักดอกเบี้ยไปทันที
เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 หลังจากกู้ยืม มีโทรศัพท์โทรเข้ามาหาเพื่อทวงเงิน ถ้าไม่มีจ่าย ให้เข้าระบบทำอัตราขยายวัน ซึ่งขยายได้เพียง 3 วัน หากครบ 3 วันแล้วไม่จ่ายอีก ก็จะโทรไปตามรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเรา หากไม่มีคนรับสายระบบจะส่ง เอสเอ็มเอสไปแจ้งว่า คนชื่อ xxx นามสกุล xxx ยืมเงินแล้วไม่คืน
“ระหว่างที่เรากำลังวิตกกังวลเรื่องการหาเงินมาใช้หนี้ จะมีคนติดต่อแอดไลน์ line มา โดยไม่ผ่านแอปและเสนอดอกเบี้ยน้อยกว่า เช่น กู้ 10,000 ได้รับ 7,000 บาท ถ้าตอบโอเค ไม่ว่าด้วยวิธีการไหน พิมพ์เป็นตัวอักษรหรือส่งสติ๊กเกอร์ ผู้ให้กู้เงินก็จะโอนเงินมาให้ และให้เวลา 6 วันในการคืนเงินถ้าไม่คืนก็จะด่า แบบทำร้ายจิตใจมาก แอปนี้คือกับดักความทุกข์ ที่เกือบจะเป็นดักความตาย เพราะทำให้เราเกือบฆ่าตัวตาย”
ผู้เสียหายเล่าต่ออีกว่า การกู้เงินผ่านการแอดไลน์ จะมีฝ่ายติดตามหนี้หลายคน จนทำให้ผู้กู้งงและถูกกดดันอย่างมาก ทั้งยังมีผู้เสนอให้เงินกู้และทางไลน์จำนวน แต่ละเจ้าจะให้กู้ประมาณ 10,000 ถ้าต้องการกู้เงิน 80,000 บาทก็จะต้องกู้ 8 เจ้า และหากไม่จ่ายตามเวลาที่กำหนดจะถูกข่มขู่โดยการประจานข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เช่น ถ่ายรูปคนกู้เงินบัตรประชาชน แจ้งว่าชื่อนี้นามสกุลนี้ข้อมูลส่วนบุคคลแบบนี้ได้กู้เงินไปเท่าไหร่เท่าไหร่และไม่ยอมจ่าย ผู้บริโภครายดังกล่าวจึงต้องหาทางออก ไปกู้รายอื่น ๆ อีก หมุนชน ๆ จนเป็นดินพอกหางหมู เมื่อตั้งสติได้ ก็พบว่าตัวเองกู้เงินมา 30 – 40 เจ้า และสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือ เมื่อเอาสลิปที่โอนเงินคืนแต่ละเจ้ามาเทียบกัน จะสังเกตได้ว่า เป็นชื่อนามสกุลเดียวกันแค่ต่างธนาคาร
ท้ายที่สุด ผู้บริโภคตัดสินใจเลิกใช้วิธีการหมุนเงินแบบนี้ และไปหายืมเงินมา โปะหนี้ทุกเจ้า ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขดูแล้ว พบว่าจ่ายไปประมาณ 700,000 บาท
อ่านข่าวเต็มคลิก สภาองค์กรของผู้บริโภค