- 25 พ.ค. 2562
ภาวะปัสสาวะเล็ดคือปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้หญิงทั่วโลก อาการปัสสาวะเล็ด แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก มักพบในคนที่มีโรคทางระบบประสาทและสมองร่วมด้วยโด
ภาวะปัสสาวะเล็ดคือปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้หญิงทั่วโลก อาการปัสสาวะเล็ด แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก มักพบในคนที่มีโรคทางระบบประสาทและสมองร่วมด้วยโดยมีปัสสาวะไหลตลอดเวลา (Overflow) จนต้องใช้แผ่นอนามัยซับ แค่เดินปกติหรือเดินเร็วหน่อยปัสสาวะก็เล็ดแล้ว
กลุ่มที่สอง ปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงโดยเฉพาะเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ไอ จาม เล่นกีฬา ยกของหนัก กลุ่มนี้จะพบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด และกลุ่มที่สาม เรียกว่ากระเพาะปัสสาวะไวเกินไป เมื่อเริ่มรู้สึกปวดกำลังจะลุกไปเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะมักเล็ดออกมาเสียก่อนและจะมีอาการปัสสาวะบ่อย
สาเหตุของการเกิดโรคปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงมาจากการมีแรงดันสะสมในช่องท้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อในผนังช่องคลอดเกิดการหย่อน กระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะมีการเปลี่ยนมุม เมื่อออกแรงยกของหนักหรือเล่นกีฬาซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ปัสสาวะจึงเล็ดออกมา ส่วนการที่ผนังช่องคลอดหย่อนสามารถเกิดได้จากหลายกรณีด้วยกัน เช่น น้ำหนักตัวเยอะ ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีแรงดันในช่องท้องเยอะอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพบมากในคนที่ออกกำลังกายหนักและยกของหนักม?ากๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งการตั้งครรภ์และการคลอดลูก โดยเฉพาะในกรณีที่คลอดลำบาก จะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดหย่อนและบาดเจ็บหรือที่เรียกกันว่ากระบังลมหย่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงได้ โดยเฉพาะสตรีที่ไม่ได้ทำกายบริหารอย่างถูกวิธีในช่วงหลังคลอด
หากอาการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารช่องคลอดด้วยการขมิบ ซึ่งถ้าทำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอต้องทำ 30 ครั้งขึ้นไป วันละ 3 เวลา เช้า กลาง เย็น เป็นอย่างน้อย จะช่วยป้องกันภาวะกระบังลมหย่อยและปัสสาวะเล็ดได้ แต่ในบางกรณีที่คนไข้ไม่สามารถโฟกัสกับการบริหารช่องคลอดได้ตลอดทั้งวัน ก็ต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วย เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คือเครื่องเลเซอร์ยกกระชับช่องคลอด
การรักษาด้วยเลเซอร์จะใช้หลักการทำลายเซลล์เก่าและสร้างคอลลาเจนในเนื้อเยื่อช่องคลอดให้เยอะขึ้น ปกติในเนื้อเยื่อของคนทั่วไปจะมีความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากคอลลาเจนที่อยู่ในชั้นใต้ผิวหนังแต่เมื่ออายุมากขึ้นเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื้อเยื่อจะเสื่อมสลายไปตามวัย หรืออาจมีปัจจัยมาจากภาวะอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัวมาก การตั้งครรภ์ การคลอดที่ลำบาก ทำให้คอลลาเจนลดลง การใช้เลเซอร์จะเข้าไปเพื่อทำลายเซลล์พื้นผิวออก และกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่
ผู้ที่ต้องการทำเลเซอร์รักษาอาการปัสสาวะเล็ด ต้องเข้ามาตรวจร่างกายเพื่อวัดระดับความรุนแรงของโรคก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีเลเซอร์ยกกระชับจะเหมาะกับการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดที่ไม่รุนแรงมาก เช่น มีอาการปัสสาวะเล็ดเฉพาะเวลาเล่นกีฬาหนักๆ เข้าฟิตเนสบางคลาสที่ออกแรงเยอะหรือในกรณีที่คนไข้รู้สึกว่าช่องคลอดไม่กระชับรู้สึกมีลมออกทางช่องคลอด แต่ถ้าคนไข้ปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมากขึ้นอาจจำเป็น จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแทน
ซึ่งการผ่าตัดรักษาอาการปัสสาวะเล็ด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องยกมุมของกระเพาะปัสสาวะขึ้น หรือใช้เทปสลิงดึงมุมกระเพาะปัสสาวะขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมของท่อทางเดินปัสสาวะให้กลับไปเป็นปกติ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องการกระชับช่องคลอด ต่างจากการรักษาด้วยเลเซอร์ที่สามารถแก้ไขได้ทั้งสองกลุ่มอาการในคราวเดียวกัน หรือในกรณีที่ผู้หญิงบางคนรู้สึกไม่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ แม้ไม่ได้มีอาการปัสสาวะเล็ด ก็สามารถมาทำเลเซอร์ให้ช่องคลอดกระชับยิ่งขึ้นได้
การรักษาอาการปัสสาวะเล็ดที่ไม่รุนแรงมากหรือยกกระชับช่องคลอดด้วยการยิงเลเซอร์ จะต้องทำทั้งหมดสามครั้ง โดยมาพบแพทย์เดือนละหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่เจ็บตัว หลังจากทำการรักษาเรียบร้อย สามารถกลับบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการผ่าตัด และมีผลข้างเคียงน้อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย อาจมีแค่ตกขาวเพิ่มขึ้นในช่วง 1 อาทิตย์แรกเท่านั้นเอง จึงนับว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่น่าสนใจทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาล พญาไท 2