- 11 ส.ค. 2562
เทคนิค ขับรถลุยน้ำท่วม ปลอดภัยทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เครื่องไม่ดับ
ช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว ปัญหาที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเรื่องฝนตก-รถติด แต่สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางนั่นก็คือ ปัญหาน้ำท่วมถนน ที่อาจทำให้รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านไปได้
บ่อยครั้งที่สื่อต่างๆตามโทรทัศน์ หรือวิทยุมีการรายงานข่าวว่า ถนนเส้นนี้มีน้ำท่วมที่ระดับ 20 เซนติเมตร หรือถนนเส้นนั้นมีน้ำท่วมที่ระดับ 60 เซนติเมตร ทำให้ผู้ใช้รถหลายคนต่างพากันสงสัยว่า ตัวเลขระดับน้ำท่วมเท่าไหร่ที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านไปได้ หรือระดับใดที่ไม่สามารถแล่นผ่านได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายกับตัวรถและเครื่องยนต์ได้
การขับรถฝ่าน้ำท่วมจึง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเครื่องยนต์กลไก และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของรถยนต์ ไม่ถูกกับน้ำอย่างยิ่ง หากไม่อยากเสียเงินเพื่อซ่อมรถ หรือร้ายแรงสุดๆ คือยกเครื่องใหม่ ถ้าเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วมได้ หรือมีเส้นทางอื่นที่ไปถึงได้เหมือนกัน ก็ควรเลี่ยง อย่าฝืน หรืออย่าเสี่ยงจะดีกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องไปทางนั้นจริงๆ หรือไม่มีทางให้เลี่ยง มาดูวิธีขับฝ่าน้ำท่วมยังไงให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยงรถพัง มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ห้ามเปิดแอร์เด็ดขาด ในขณะขับรถลุยน้ำลึก หรือแม้จะน้ำตื้นก็ตามเพราะ สาเหตุที่รถดับ ส่วนใหญ่เกิดจากการเปิดแอร์แล้วขับลุยน้ำ เนื่องจาก เมื่อเปิดแอร์ พัดลมจะทำงาน และอย่าลืมว่าเรากำลังลุยน้ำลึกอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าฝืนเปิดพัดลมอยู่นั้น สิ่งที่จะตามมา ก็คือ ใบพัดจะพัดให้น้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง ส่งผลให้เครื่องจะดับเอาง่าย ๆ หรือ ถ้าโชคดี หรือโชคร้าย ถ้าเครื่องไม่ดับใบพัดก็จะหมุน ๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่า ในขณะที่เราลุยน้ำ อะไรมันจะลอยมาบ้าง มันมีสารพัดไม่ว่าจะเป็น ขยะ กิ่งไม้ ไม้หน้าสาม ถุงพลาสติก รองเท้า สิ่งของพวกนี้ มันมีโอกาสที่จะเข้ามาในห้องเครื่อง แล้วโดนใบพัดตัดจนใบพัดหัก ซึ่งถ้าใบพัดหัก แน่นอนว่าเราขับรถต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะระบบระบายความร้อนจะมีปัญหา
ข้อ 2. ควรใช้เกียร์ต่ำ สำหรับเกียร์ธรรมดา ก็ใช้ประมาณเกียร์ 2 หรือสำหรับออโต้ ก็ใช้เกียร์ L ก็ได้ครับ รวมถึงการขับขี่ที่มีความเร็วต่ำที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และควรใช้ความเร็วสม่ำเสมอ อย่าหยุดอย่าเร่งความเร็วขึ้น
ข้อ 3. ไม่ควรเร่งเครื่องให้รอบสูง ๆ เพราะเห็นผู้ขับขี่หลาย ๆ คนมักจะเร่งเครื่องแรง ๆ พราะกลัวเครื่องดับ หรือเพราะกลัวน้ำเข้าท่อไอเสีย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นความคิดที่ผิดมาก ๆ แท้ที่จริงแล้ว การเร่งเครื่อง ยิ่งทำให้รถมีความร้อนสูงขึ้น เมื่อเครื่องมีความร้อนสูงขึ้น ใบพัดระบายความร้อนก็จะทำงาน และสิ่งที่จะตามมาก็เหมือนกับข้อ 1 ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะเข้าท่อไอเสียครับ เพราะต่อให้น้ำจะท่วมท่อไอเสีย แล้วคุณสตาร์ทรถ อยู่ที่รอบเดินเบา แรงดันที่ออกมาเพียงพอที่จะดันน้ำออกมาอย่างสบาย ๆ ต่อให้คุณจอดรถทิ้งไว้ จนน้ำท่วมท่อไอเสียก็ตาม เมื่อคุณเข้าไปในรถ แล้วสตาร์ทรถกล้าพูดได้เลยทีเดียวติดแน่นอน
ข้อ 4. ควรลดความเร็วลง เมื่อ กำลังจะขับรถสวนกับอีกคันที่กำลังขับมา เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นคลื่นชนคลื่น อย่างที่ผมบอก ซึ่งน้ำที่ปะทะระหว่างรถของเรา และรถที่วิ่งสวนมา มันก็อาจทำให้น้ำกระเด็นไปทำอันตรายต่ออุปกรณ์ภายในได้
ข้อ 5. เว้นระยะให้ห่างจากคันหน้ามากกว่าปกติ เพราะอย่าลืมว่า ระบบเบรกทั้งหมดจมอยู่ในน้ำ ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดต่ำลงมาก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น จะได้มีระยะเบรกที่ปลอดภัย และหากขับรถพ้นช่วงน้ำท่วมแล้ว ให้ทำการย้ำเบรกบ่อยๆ หรือเหยียบเบรกเป็นช่วงๆ ถี่ๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบ และผ้าเบรกจะได้แห้งไวขึ้น สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ให้ย้ำคลัตช์เพิ่มเข้าไปด้วยอีกหนึ่งอย่าง เพราะอาจมีปัญหาคลัตช์ลื่นได้หลังจากผ่านการลุยน้ำท่วม
หลังจากเราลุยน้ำลึกมา สิ่งที่ควรทำต่อ ก็คือ
ข้อแรก พยายามย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำ เพราะในช่วงแรก ๆ หลังจากการลุยน้ำลึกมา มันจะเบรกไม่อยู่ และเป็นอันตรายมาก ถ้าเราไม่ทำการย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรก สำหรับเกียร์ธรรมดา ต้องมีการย้ำคลัช เช่นเดียวกับการย้ำเบรก เพราะหลังการลุยน้ำมา อาจมีปัญหาคลัชลื่น จึงต้องทำทั้งย้ำคลัช และ ย้ำเบรก
อีกข้อหนึ่งคือ ไม่ควรดับเครื่องทันที ถึงแม้ถึงจุดหมายก็ตาม เพราะอาจมีน้ำค้างอยู่ในหม้อพักของท่อไอเสีย ซึ่งควรสตาร์ทรถทิ้งไว้สักพัก ซึ่งจะสังเกตได้ว่า มีไอออกจากท่อไอเสีย ก็ไม่ต้องตกใจ ก็ให้สตาร์ทรถทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้น้ำในหม้อพักมันระเหยออกไป เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ จะทำให้เกิดน้ำค้างอยู่ในหม้อพัก สิ่งที่จะตามมาคือ มันจะผุ
หลังจากวันที่เราลุยน้ำมาแล้วควรทำอย่างไร!!!
1. ล้างรถ รวมถึง การฉีดน้ำเข้าไปในบริเวณใต้ท้องรถด้วย รวมทั้งบริเวณซุ้มล้อ เพื่อล้างพวกเศษทรายต่าง ๆ ที่มันเกาะติดอยู่ หรือบริเวณใต้ท้องรถ ซึ่งอาจมีพวกเศษขยะ เศษหญ้า ติดอยู่ ต้องเอาออกให้หมด เพราะถ้าเศษหญ้าแห้งมันติดอยู่ใต้รถ อันตรายที่จะเกิดขึ้น มันใหญ่หลวงนัก หนัก ๆ หน่อย ไฟอาจไหม้ได้ ในคู่มือยังบอกเลยครับว่า รถที่ติดตั้งตัวกรองไอเสีย หรือ (CAT) ไม่ควรจอดรถไว้บริเวณที่มีต้นหญ้าขึ้นสูง เพราะอุณหภูมิของเจ้า Catalytic Converter นั้น มันค่อนข้างสูงมาก ๆ
2. สำรวจน้ำมันเกียร์ ว่ามันมีสีผิดปกติหรือไม่ คือ ถ้ามีลักษณะคล้ายสี ชาเย็น นั่นแสดงว่า ต้องมีน้ำเข้าไปอยู่ในระบบเกียร์อย่างแน่นอน หรือถ้าเป็นไปได้ ก็เปลี่ยนน้ำมันเกียร์มันซะเลย เพื่อความสบายใจ เพราะก้านวัดน้ำมันเกียร์นั้นอยู่ค่อนข้างต่ำ และยิ่งรถผ่านการลุยน้ำลึก ๆ มา มันก็จะท่วมตัวเจ้าก้านวัด ซึ่งเป็นไปได้ที่น้ำจะซึมเข้าไปในระบบเกียร์ และมันก็จะทำให้ระบบเกียร์พัง
3. เช็คลูกปืนล้อ พูดง่าย ๆ ว่า เจอน้ำทีไร ลูกปืนล้อมันก็จะดัง เวลาวิ่งความเร็วสูง ๆ อันนี้ทำใจไว้ได้เลย ว่าอาจต้องเปลี่ยน แต่ โดยปกติแล้ว เจ้าลูกปืนล้อมันจะพังเร็ว ก็เพราะสาเหตุที่ว่า จอดแช่น้ำมากกว่า แต่ถ้าวิ่งผ่านน้ำ โดยปกติ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ถ้าแช่น้ำเมื่อไหร่ละก็ เตรียมตัวเสียเงินได้เลย
4. ตรวจสอบ พื้นพรมในรถ ว่าเปียกชื้นหรือไม่ เพราะ หลังการลุยน้ำลึกมา มีโอกาสมากที่น้ำจะซึมเข้ามาภายในห้องโดยสาร เพราะฉะนั้น ต้องเปิดผ้ายาง เปิดพรม เอามือ กดแรง ๆ ดู หรือลองเอากระดาษซับดูว่ามีน้ำอยู่หรือปล่าว ถ้ามีน้ำขังอยู่ภายในห้องโดยสาร ผมคิดว่า น่าจะถึงเวลารื้อพรมกันเลยละครับ เพื่อป้องกันปัญหาตามมา เพราะถ้าคุณไม่รื้อพรม แต่คุณอาจแค่เพียง เอาผ้าซับ ๆ ให้พื้นแห้ง แล้วจอดตากแดด จริง ๆแล้ว มันก็แห้งเหมือนกัน แต่สิ่งที่คุณไม่เห็นก็คือ สิ่งสกปรกที่มันยังค้างอยู่ในรถของคุณ ซึ่งคุณก็น่าจะรู้ว่า น้ำมันมีเชื้อโรคสารพัด แล้วเมื่อมันแห้ง มันก็จะแพร่เชื้อและเป็นเชื้อราอยู่ในพรม
นอกจากนี้ ภายในรถยังมีระบบปรับอากาศที่มันจะเป็นตัวช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แล้วมันก็จะหมุนเวียน กลับไปกลับมา อยู่ในรถของคุณ นั่นก็เป็นสาเหตุ ของการเกิดภูมิแพ้ เพราะคุณก็สูดเอาเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าไปตลอดเวลา จะว่าไปแล้ว รถสมัยนี้ค่อนข้างออกแบบมาดี ลุยน้ำไม่ค่อยดับกันหรอก ถ้าทำอย่างที่ผมบอกนะครับ ผมว่า จากสายตา วันนี้ผมลุยน้ำลึกไม่น่าต่ำกว่า 50 ซม เพราะรถรุ่นใหม่ ๆ จะย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะเจ้า ECU ไว้ในตำแหน่งที่สูง พูดง่าย ๆ ว่า อยู่ในรถกันเลยหละ รวมถึงกล่องฟิวส์ต่าง ๆ ติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วมนี่เหละจ้า!
สุดท้ายนี้ หากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ รถดับกลางน้ำท่วม ให้พยายามย้ายรถไปอยู่ในที่ที่น้ำไม่ท่วม และอย่าสตาร์ทเครื่องยนต์เด็ดขาด เพราะน้ำที่ค้างอยู่จะยิ่งเข้าระบบ อาจทำให้เครื่องมีปัญหามากกว่าเดิม ให้รอช่างมาตรวจดูอาการก่อนจะดีกว่า และสำหรับใครที่รู้ตัวว่ารถต้องโดนน้ำท่วมแน่ๆ (จอดที่บ้าน จอดที่คอนโด ฯลฯ) ให้ถอดขั้วแบตเตอรี่ + หรือ – ออกหนึ่งขั้ว หรือจะถอดออกทั้ง 2 ขั้วเลยก็ได้ ระบบไฟฟ้าจะได้ไม่ทำงาน ถือว่าผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หากพรุ่งนี้ ไม่มีแม่ บทความดีๆ แล้วคุณจะรักแม่มากขึ้น
-3 คาถา บูชาพ่อแม่ สวดทุกวัน เพียง 1 นาที จะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต
-อาหาร 10 ประเภท เลี่ยงได้ควรเลี่ยง เสี่ยงต่อไตทำงานหนัก
-เลขที่บ้านมงคล เสริมความสุข สร้างความอุดมสมบูรณ์