- 22 ธ.ค. 2560
ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th
สับเละ?! ที่ประชุม สนช. ถกเดือด ร่างกฎหมายลูกที่ให้อำนาจ ป.ป.ช. ดักฟัง สืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งวานนี้พิจารณาเป็นวาระ 2 หลังผ่านวาระแรก โดย "มีชัย นายมีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ. ถึงกับเอ่ยปาก "คนได้อำนาจสนุก-คนถูกละเมิดไม่สนุกด้วย" ด้าน"วิชา" จวกใช้อำนาจเกิน-จะติ่มตำตนเอง ล่าสุด มีรายงานด่วนแจ้งเข้ามาว่า พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. ที่พิจารณาเรื่องนี้ ยอมถอนกฎหมายฉบับดังกล่าวออกแล้ว
วันนี้ (22 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย นายพีระศักดิ์ พิจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. ...โดยในที่ประชุม กมธ. เสียงข้างน้อยและ สนช. หลายคนหลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายท้วงติงมาตรา 37/1 อย่างดุเดือด ในประเด็นการให้อำนาจ ป.ป.ช. สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ เนื่องจากเป็นห่วงว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 จึงขอให้ กมธ. ตัดมาตรา 37/1 ทิ้ง
โดย นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อภิปรายว่า อำนาจดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ ยิ่งหากหลักฐานที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง เป็นห่วงว่า หากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลุดออกไปอาจเป็นเครื่องมือนำไปใช้แบล็กเมย์ทางการเมืองกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ไม่ควรนำมาใส่เลย และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน ถ้าป.ป.ช.เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง เป็นการได้ข้อมูลทางลัด
“การใช้มาตรา 37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องพึงระวัง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้ว่า ศาลจะเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ศาลกระอักกระอ่วน เพราะป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ” นายวิชา กล่าว
ขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ปช.) สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวว่า หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ โอกาสที่ประชาชนจะเดือดร้อนมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ
"แม้กฏหมายจะยกอำนาจให้ศาลในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ศาลก็ฟังเหตุผลเพียงเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ข้างเดียวเท่านั้น ถ้าศาลเชื่อเท่ากับว่า ป.ป.ช.จะมีอำนาจถึง 90 วัน จะจับผู้ร้ายคนเดียว แต่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ดักฟังโทรศัพท์ ดูอีเมล์ได้เป็นร้อยคน หากมีข้อสงสัยว่า เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับอำนาจก็สนุกดี แต่คนถูกละเมิดมันไม่สนุกด้วย" ประธาน กรธ. ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การอภิปรายมาตราดังกล่าวใช้เวลายาวนานและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะ กมธ.เสียงข้างมากยืนยันไม่ยอมถอนมาตรา 37/1 โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อภิปรายให้เหตุผลว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว เพราะกมธ.เสียงข้างมากไม่มีเจตนาต้องการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 เพราะการใช้อำนาจตามมาตรา 37/1 ต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการป.ป.ช. ทั้ง 9 คน แล้วส่งเรื่องให้อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบให้ความเห็นชอบ ที่สำคัญฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา 37/1 ได้ ต้องเป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบในวงกว้าง
ขณะที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย เมื่อไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ที่ประชุม สนช. จึงนัดประชุมพิจารณาต่อในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานด่วนแจ้งเข้ามาว่า พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า การดักฟังถือเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็น แต่ กมธ.ไม่ต้องการให้สภาเสียเวลากับปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าเวลายังไม่เหมาะสม จึงขอถอนมาตรา 37/1 รวมถึงมาตรา 37/2 และมาตรา 37/3 ออกไป ประกอบกับที่จะมีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งจะมีประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว และเมื่อถอนมาตราดังกล่าวออกไป ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญอยู่ในคำปรารถ จึงขอให้ตัดออกจากร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ออกไปด้วย