- 10 ก.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เคยสงสัยกันหรือเปล่า ว่า ถนนบางสายในกรุงเทพมหานคร ทำไมต้องตั้งชื่อว่า พระราม เช่น ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 9 วันนี้สำนักข่าวทีนิวส์จะพามาคำตอบกันว่า ทำไม ถนนหลายสายหรือแม้แต่กระทั่งชื่อของสะพานถึงเป็นชื่อที่มาจากพระนามของพระมหากษัตริย์ ส่วนภาษาอังกฤษ จะเรียกว่าRama เนื่องจาก มาจากพระปรมาภิทัยเต็ม ที่จารึกลงพระสุพรรณบัฏคือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร
ถนนพระรามที่ 1 (กษัตริย์ศึก - ราชดำริ) ตัดต่อจากถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นถนนสายแรกๆของกรุงเทพฯ หัวถนนเริ่มด้วยแยก กษัตริย์ศึก ซึ่งเป็นราชทินนามเดิมของพระองค์ท่าน (สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก - ราชทินนามสุดท้ายก่อนขึ้นครองราชย์)
ส่วนถนนพระรามที่ 2 (ธนบุรี - ปากท่อ) นั้นตัดผ่านบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระองค์ท่าน ซึ่งก็ยังมี สะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้ามแม่น้ำแม่กลอง
ถนนพระรามที่ 3 (เลียบถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นที่ย่านมีการขนส่งค้าขายมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถในด้านการค้า
ถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง - กล้วยน้ำไท) เมื่อก่อนฝั่งทางติดกับถนน4ส เป็นคลอง ส่วนทางฝั่งตรงข้ามเป็นทางรถไฟ (มีสถานีรถไฟอยู่ตรงสวนลุมพินี ทาสีแดง เรียก สถานีรถไฟศาลาแดง) ต่อมาเมื่อถมคลองแล้ว จึงอัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อถนน
ถนนพระรามที่ 5 (วัดโสมนัส - เตชะวนิช) เดิมชื่อถนนลก (ฮก ลก ซิ่ว) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้พร้อมพระราชวังดุสิตบริเวณนอกเมือง (ในสมัยนั้น) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จึงอัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อถนน ซึ่งตัดผ่านเขตพระราชวังดุสิต
ถนนพระรามที่ 6 (จรัสเมือง - ริมคลองประปาฝั่งซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงถนนประทัดทอง จากปลายถนนจารุเมือง ไปจนถึงโรงประปาสามเสนและโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 6
ถนนพระรามที่ 7 และ ถนนพระรามที่ 8 - - - ยังไม่มีการสร้างเป็นชื่อถนน
ถนนพระรามที่ 9 (รัชดาภิเษก - มอเตอร์เวย์)สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัดผ่านบึงพระราม 9 อันเป็นที่ตั้งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
สะพานพระราม....
สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือเรียกสั้นๆว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า สั้นกว่านี้ ก็สะพานพุทธ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งแรก โครงสร้าง เดิมสร้างเป็นแบบเปิดได้ แต่หลังจากสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ไม่ได้ทำการเปิดอีกเลย จึงปรับปรุงสะพานเป็นแบบปิดตาย รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานชื่อ ตามพระราชานุสาวรีย์ ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานฝั่งพระนครว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
สะพานกษัตริย์ศึก (สะพานพระราม 1) เป็นสะพานข้ามทางรถไฟแห่งแรก อยู่บริเวณหัวถนนพระรามที่ 1 สร้างโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในสมัยรัชกาลที่ 6
สะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 2 ข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ใกล้นิวาสสถานเดิมของพระองค์ท่าน
สะพานพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ต.ไทรม้า และต.บางกระสอ อยู่ในเขต อ.เมือง นนทบุรี
สะพานพระราม 3 หรือสะพานกรุงเทพ2 สร้างคู่ขนานสะพานกรุงเทพทางฝั่งต้นน้ำ โดยใช้แนวคิดเดียวกับชื่อถนน พระรามที่ 3
สะพานพระราม 4 หรือสะพานปากเกร็ด สร้างที่ปลายถนนแจ้งวัฒนะปากกร็ด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งเหนือของเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยเชื่อม ต.บางตะไนย์ ต.คลองพระอุดม และต.ปากเกร็ด เข้าด้วยกัน เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ 5 ธันวาคม ปีนี้ (2549)
สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณนิวาสสถานเดิม ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 4
สะพานพระราม 5 หรือสะพานนครอินทร์ สร้างเชื่อม ถนนนครอินทร์ และถนนติวานนท์ ที่ต.บางไผ่ อ.เมือง นนทบุรี โดยสะพานพระราม 4 และ สะพานพระราม 5 นั้น สร้างขึ้นตามโครงการแก้ไขบัญหาจราจรแบบจตุรทิศตามแนวพระราชดำริ จึงทำการอัญเชิญพระนามพระราชทาน พระราม 4 และ พระราม 5 ไปเป็นชื่อสะพาน
สะพานพระจุลจอมเกล้า สร้างข้ามแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสะพานรถไฟและรถยนต์ ภายหลังสร้างสะพานรถยนต์ขึ้นใหม่ จึงใช้งานเปนสะพานรถไฟเต็มรูปแบบ
สะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก (แต่เป็นทางรถไฟ) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ควบคุมโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ต่อมาโดนทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สะพานขาด หลังจากซ่อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า สะพานพระราม 6
สะพานวชิราวุธ เป็นสะพานคนเดินที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นพระตำหนักฤดูร้อนในสมัยนั้น
สะพานพระราม 7 สร้างขึ้นคู่ขนานสะพานพระราม 6 ทางด้านต้นน้ำ เพื่อโอนการคมนาคมโดยรถยนต์ มาจากสะพานพระราม 6 และเปลี่ยนเป็นสะพานพระราม 6 เป็นสะพานทางรถไฟเต็มรูปแบบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า สะพานพระราม 7
สะพานพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างคู่ขนานสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อแบ่งเบาการจราจร จึงอัญเชิญพระนาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอนุสรณ์ที่ทรงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานพระราม 8 สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรของสะพานกรุงธน และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าต่อเนื่องมาจากทางคู่ขนานลอยฟ้า บรมราชชนนีตามโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริและทรงพระราชทานพระนาม พระราม 8 ให้เป็นพระราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฒมรามาธิบดินทร์
สะพานพระราม 9 เป็นสะพานแขวนระนาบเดี่ยวแห่งแรกของไทยเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงดาวคะนอง-ท่าเรือ และอัญเชิญพระนาม พระราม 9 เป็นชื่อสะพาน เพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 60 พรรษา
สะพานพระราม 9 แห่งที่ 2 (ระหว่างก่อสร้าง) เป็นสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ด้านท้ายน้ำสร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาการจราจรของสะพานพระราม 9 และเป็นส่วนหนึ่งของทางพิเศษ ศรีรัช-ดาวคะนอง
สะพานภูมิพล สะพานที่สวยที่สุดในประเทศไทย สะพานที่พ่อหลวงทรงสร้างไว้ให้ประชาชน
สะพานทีปังกรรัศมีโชติ เป็นสะพานขึง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ช่วง ตามโครงการวงแหวนอุตสาหกรรมตามแนวพระราชดำริ และทรงพระราชทานพระนาม ทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นพระนามพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสะพานสาทร สร้างขึ้นเชื่อมถนนสาทรและถนนกรุงธนบุรี เพื่อแบ่งเบาการจราจรสะพานกรุงเทพ และสะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานกรุงเทพ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 รองจากสะพานพระราม 6 และสะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ตัวเมืองรอบนอก(ในสมัยนั้น) และให้เป็นเสมือนประตูพระนครทางแม่น้ำ
สะพานกรุงธน อยู่ทางตอนต้นน้ำของสะพานพระราม 8 สร้างพร้อมกับสะพานกรุงเทพ ขณะก่อสร้าง ช้าวบ้านเรียกว่าสะพานซังฮี้ ตามชื่อถนนราชวิถีฝั่งพระนคร เมื่อสร้างเสร็จ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งชื่อว่าสะพานกรุงธน เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่
สะพานสมเด็จพระนเรศวร สร้างข้ามแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา ขนาบข้างสะพานปรีดี-ธำรง เป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกอบกู้อิสรภาพ
สะพานพระวันรัต ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์ให้พระวันรัต วัดป่าแก้ว พระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี ในสมัยอยุธยา ที่ทูลถวายขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ทหารคชบาลที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรไม่ทันในสงครามยุทธหัตถีถนนเทอดไท
สะพานมหาเจษฎาบดินทร์ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของจังหวัดนนทบุรี ก่อสร้างด้วยรูปแบบ Extradosed Bridge แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย"
นอกจากนี้ ถนน 11 สายแรก ของฝั่งธนฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เป็นสะพานรถยนต์และคนเดินเท้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกแล้ว ทรงมีพระราชดำริตัดถนนเพิ่มที่ฝั่งธนบุรี เพื่อกระจายความเจริญ จึงทรงให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และราชบัณฑิต ไปศึกษาข้อมูล
ได้ตำแหน่งและชื่อถนน มาทั้งหมด 11 เส้น (แต่ไม่ได้นำมาตัดจริงทั้งหมด)
1. ลงจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ผ่านวงเวียนเล็ก จนถึงวงเวียนใหญ่ ใช้ชื่อถนนประชาธิปก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. ต่อออกไปจากวงเวียนใหญ่ ลงไปทางใต้ถึงคลองดาวคะนอง ใช้ชื่อว่าถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
3. ออกจากวงเวียนใหญ่ ไปทางตะวันตก ถึงคลองบางกอกใหญ่ ใช้ชื่อว่า ถนนอินทรพิทักษ์ เทิดพระเกียรติกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
4. ออกจากวงเวียนใหญ่ไปทางตะวันออก ถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ชื่อว่า ถนนลาดหญ้า เป็นอนุสรณ์ชัยชนะสงครามเก้าทัพ ที่ ต.ลาดหญ้า อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
5. จากถนนลาดหญ้า ผ่านถนนประชาธิปก ไปจนสุดคลองบางกอกน้อย ใช้ชื่อว่าถนนอิสรภาพ เป็นอนุสรณ์การประกาศอิสรภาพจากพม่า ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
6. จากปลายถนนลาดหญ้า ขนานกับถนนอิสรภาพ ไปสุดคลองบางกอกน้อย เรียกว่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งนิวาสสถานเดิมท่านอยู่บริเวณวัดระฆังโฆษิตาราม แต่ถนนเส้นนี้ ตัดไปได้แค่จากถนนลาดหญ้า จรด ถนนประชาธิปก เพิ่งจะมาตัดต่อให้ครบเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของถนนอรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นชื่อถนน ที่เชื่อมระหว่างวัดอรุณ และวัดอมรินทร์
7. ออกจากหัวถนนอิสรภาพ ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ชื่อว่า ถนนท่าดินแดง เป็นอนุสรณ์ชัยชนะต่อพม่า ที่ ต.ท่าดินแดง (กาญจนบุรี)
8. ออกจากถนนสมเด็จเจ้าพระยา ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ชื่อว่าถนนเชียงใหม่ เป็นอนุสรณ์ที่ตีเชียงใหม่ได้คืนจากพม่า
เส้นที่ 9 และ 10 ไม่ได้ทำการตัด
11. ถนนปากพิง เป็นอนุสรณ์รบชนะพม่าที่ ต.ปากพิง แต่ถนนเส้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าเป็นถนนรถไฟธนบุรี บ้างก็ว่า เป็นถนนเทอดไท
ที่มาจาก : http://community.thaiware.com