- 18 ต.ค. 2561
จากอุบัติเหตุสลด บนทางคู่ขนานลอยฟ้า หน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ถ.บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561
จากอุบัติเหตุสลด บนทางคู่ขนานลอยฟ้า หน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ถ.บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 ที่เกิดเหตุพบรถเก๋งนิสสัน เทียน่า สีดำ หมายเลขทะเบียน ฆณ 8995 ไฟลุกท่วมทั้งคัน จากการชนท้ายรถปิกอัพอีซูซุ ดีแม็กซ์ สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน ฒภ 8601 อย่างรุนแรง
ระหว่างนั้นได้มี สายตรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง พร้อมรถวิทยุ 2125 กำลังเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นำขบวนเสด็จพระราชดำเนินฯ นำโดย ร.ต.อ.ศรัณยพงศ์ อ่อนสิงห์ แต่เห็นว่ามีคนกำลังติดในรถที่ไฟกำลังลุก จึงตัดสินใจเข้าช่วยเหลือด้วยการทุบกระจกรถคันดังกล่าว จนสามารถช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บออกมาได้
ทราบชื่อผู้บาดเจ็บคือนายรัฏฐกานต์ โกมลรัตน์ อายุ 40 อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ภายหลังเร่งนำส่งโรงพยาบาล ล่าสุดมีรายงานว่านายรัฏฐกานต์ เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา เมื่อช่วง 14.00 น. ของวันเดียวกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมหลักฐานดำเนินการตามกฎหมาย และเตรียมเรียกสอบปากคำคู่กรณีเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายรัฏฐกานต์ หรือ อาจารย์นุก เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานต่างโพสต์ข้อความไว้อาลัยการจากไปของนายรัฏฐกานต์ เป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ไฟไหม้รถยนต์เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้รถเกิดไฟไหม้ นอกเหนือจากความประมาทในการขับขี่ คือรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน และรถที่ผ่านการปรับแต่งสภาพมีการติดตั้งระบบก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรแล้วหากเกิดอุบัติเกิดขึ้นควรเรียนรู้วิธีเอาชีวิตรอดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้นำข้อควรรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการปฏิบัติกรณีเกิดไฟไหม้รถยนต์ โดยมีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้
1. ควรหมั่นตรวจความพร้อมของสภาพรถก่อนใช้งาน ในทุกองค์ประกอบสำคัญของรถ เช่น เติมน้ำหม้อน้ำในระดับที่กำหนด ตรวจดูว่าท่อน้ำมันเชื้อเพลิงมีรอยรั่วหรือไม่ และควรทำให้สายพานมีความตึงตามค่าที่กำหนด ส่วนกระโปรงหน้ารถ ตรวจสอบดูว่ามีเขม่าดำเกาะหรือไม่ เพราะถือเป็นสัญญาณเตือนว่าเครื่องยนต์ทำงานไม่สมบูรณ์ รวมถึงตรวจสอบใต้ท้องรถอย่างละเอียดด้วย
2. "รอยน้ำมันหยด" เป็นสัญญาณเตือนที่อันตรายที่สุด ควรรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะอาการน้ำมันรั่วหยดใต้ท้องรถสามารถเกิดขึ้นได้กับรถทุกคัน โดยเฉพาะรถที่มีอายุการใช้งานมานานยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการใช้งานโดยที่ไม่ทันรู้ตัว เช่น เกิดการกระแทกใต้ท้องรถขณะขับผ่านลูกระนาดที่ยกสูง ผู้ขับขี่ที่ดีจึงควรหมั่นสังเกตการทำงานของเครื่องยนต์และระบบก๊าซอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้หากพบว่ามีรอยน้ำมันรั่วซึม ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซลดลงอย่างรวดเร็ว เครื่องยนต์ร้อนจัด ได้กลิ่นเหม็นไหม้ของยางหรือพลาสติก อาการเหล่านี้ควรรีบนำรถเข้าอู่เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตนเอง และผู้ขับขี่รายอื่นบนท้องถนน ทั้งนี้ควรจัดเตรียมถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็กไว้ด้านข้างคนขับ เพื่อที่จะสามารถหยิบมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
3. หากเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้รถ ให้ตั้งสติและรีบนำรถจอดริมข้างทางในทันที ในกรณีที่เป็นรถติดก๊าซ LPG หรือ NGV ให้ปิดสวิตซ์ เพื่อตัดการทำงานของระบบก๊าซ พร้อมดับเครื่องยนต์ หากไฟไหม้รถเพียงเล็กน้อย ให้ควบคุมเพลิงด้วยตัวเองในเบื้องต้นก่อนโดยใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณต้นเพลิงให้ดับสนิท หากมีเปลวไฟออกมาจากฝากระโปรงรถ ให้ปลดสลักฝากระโปรง และฉีดพ่นผ่านทางช่องฝากระโปรงที่แง้มไว้ ห้ามเปิดฝากระโปรงในทันที เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น เมื่อไฟเริ่มสงบจึงค่อยเปิดฝากระโปรงอย่างระมัดระวัง และต้องสวมถุงมือหรือใช้ผ้ารองเท่านั้น เพราะฝากระโปรงจะมีความร้อนสูง จากนั้นจึงทำการถอดขั้วแบตเตอรี่ออกเพื่อป้องกันเปลวไฟปะทุ
4. แต่หากไฟไหม้แล้วไม่สามารถทำอะไรได้ ให้รีบออกจากรถโดยทันที ตระหนักไว้ให้มั่นว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าชีวิต กรณีมีเพื่อนร่วมทางให้พาตัวเองออกมาก่อน และจึงค่อยขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือพลเมืองดี หากไม่มีให้สอบถามเพื่อนถึงอาการบาดเจ็บ และจุดที่เขาติดอยู่ก่อน จึงเริ่มการช่วยเหลือ
5. กรณีเพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ให้รีบออกห่างจากรถโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันรถระเบิด จากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 และที่สำคัญการขับขี่บนท้องถนนไม่ควรขับเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่จำเป็น เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ จะช่วยลดแรงปะทะที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้รถยนต์ได้ในระดับหนึ่ง
เหล่านี้หากเรียนรู้และปฏิบัติตนตามหลักการเบื้องต้นอย่างถูกต้องย่อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในรถยนต์ได้ไม่มากก็น้อย