- 24 ต.ค. 2561
"ธนาธร" ดิ้นพล่าน เลือกตั้ง ชน GAT/PAT ดับฝันพรรคอนาคตใหม่ ดึงสติก่อนพุ่งเป้าผิดจุดอย่าหวังแต่โจมตี
จาก 49 ถึง 57 กับการ "รัฐประหาร" สองครั้ง จาก 57 ถึง 61 ที่รัฐบาลทหาร คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความสงบหลังจากตกอยู่ในห้วงของความขัดแย้งมาเป็นเวลานาน
การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เกิดจากความปรารถนาของภาคประชาชนกลุ่มใหญ่ ที่พยายามเรียกร้องให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในการ "กอบกู้" วิกฤตการณ์การเมืองไทย อันประหนึ่งเพื่อเป็นการสร้างความ "ชอบธรรม" ให้กองทัพเข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล
เป็นเวลา 4 ปี ที่ คสช. อยู่ในอำนาจ กับ 3 ครั้ง ที่เลื่อนเลือกตั้ง และอีก 1 ครั้งที่ยังไม่ชัดเจนนัก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 หลังรัฐประหารยังไม่ครบรอบขวบปี พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559
ถัดมากับ การประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ถึง 1 ต.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
หลังจากเข้าสู่ช่วงปลายปี 2560 การเลือกตั้งมีอันต้องเลื่อนไปอีกครั้ง เนื่องด้วยเหตุผลเทคนิคทางกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ษ. 2560 ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือนจึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้ โดยทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสื่อถามถึง "การเลือกตั้ง" มักจะให้คำตอบด้วยความอันเรียบง่ายว่า "ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป"
และแล้วในที่สุด วันที่ 21 ส.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้น โดยจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นอันเข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลกำลังส่งสัญญาณให้ประชาชนตลอดจนพรรคการเมืองและคนการเมืองให้เตรียมความพร้อม กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในไม่ช้า
ความหวังเริ่มปรากฏ เมื่อรัฐบาลประกาศ "คลายล็อค" พรรคการเมืองให้เหล่าคนการเมืองพอได้ขยับแข้งขยับขา หายใจหายคอ หลังจากความอัดอั้นได้กำซาบอยู่ในทุกอณูเป็นเวลานาน ตรงข้ามกับประชาชน ที่หลายคนเกิดความเบื่อหน่ายเอือมระอากับกลุ่มพรรคการเมืองหน้าเก่า หรือขั้วอำนาจเดิมๆ ที่เป็นต้นสายปลายเหตุและชนวนของ "ความขัดแย้ง" มาโดยตลอด โดยหวังเพียงจะมี "ตัวเลือก" ใหม่ๆ เข้ามาให้พิจารณาเพื่อกำหนดความเป็นไปของประเทศได้บ้าง
พลันที่ "พรรคอนาคตใหม่" นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ประกาศถึงแนวทางพรรค ที่ดูจะ "ซ้ายจัด" และ "ขวางโลก" ในทรรศนะของใครหลายคนโดยเฉพาะ "กลุ่มอำนาจเก่า" รวมถึง "รอยัลลิสต์" หากแต่อุดมการณ์และการแสดงออกถึงจุดยืนของชายผู้นี้กลับเป็นเสมือนความหวังของ "คนรุ่นใหม่" (ในที่นี้คือ Mindset มิใช่ Age) ที่จะเห็นประเทศ ก้าวเข้าสู่ความ "ศิวิไลซ์" ให้ทัดเทียมหรือเฉียดไปใกล้โลกเสรีประชาธิปไตยแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี
นายธนาธร เห็นว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่กำลังจะมีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก ตั้งแต่ลืมตาดูโลกนั้น เป็นประหนึ่ง "ฐานเสียง" อันสำคัญของเขา แต่แล้วอุปสรรคกลับปรากฏ เมื่อพบว่าวันสอบ GAT/PAT ของนักเรียนทั่วประเทศนั้นคาบเกี่ยวตรงกับวันเลือกตั้งอย่างพอเหมาะพอเจาะ จนทางพรรคอนาคตใหม่ต้องออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สทศ. และ กกต. พิจารณาเลื่อนวันสอบ โดยมีการเปิดให้ ร่วมลงชื่อเรียกร้องการเลื่อนวันสอบหรือวันเลือกตั้งไม่ให้ตรงกัน พร้อมระบุความสำคัญว่าเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิ์หน้าใหม่ ที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ถึง 6.4 ล้านคนทั่วประเทศ จะได้แสดงพลัง กำหนดอนาคตของตนเอง หลังการอยู่ใต้รัฐบาลทหารมายาวนาน
เมื่อนำมาพิจารณาและเปรียบเทียบอย่างเป็นกลางจะพบว่า ห้วงเวลาการสอบ GAT/PAT ของปี 2561 ที่ผ่านมา และ ปี 2562 อยู่ในช่วงเดียวกัน คือ 24-27 ก.พ. 2561 และ 23-26 ก.พ. 2562 ดังนั้นหากจะกล่าวว่ารัฐบาล "จงใจ" ตัดสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิ์หน้าใหม่ทางอ้อม ก็ดูจะพูดได้ไม่เต็มปากนักเพราะการสอบเกิดขึ้นในช่วงเวลาตามปกติ เมื่อย้อนไปดูสถิติการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,939,549 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,220,208 คน หรือร้อยละ 75.03 เห็นได้ชัดว่าในภาพรวมประชาชนยังคงตื่นตัวต่อการเมืองมากอยู่พอสมควร
แต่หากการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามนี้โดยที่วันจัดสอบยังคงเดิม พฤติการณ์ดังกล่าวจะประหนึ่งเป็นการผลักไสให้กลุ่มผู้ที่อาจเป็นความหวังของชาติในอนาคต ต้องตกไปเป็นเพียง "คนชายขอบการเมือง" ซึ่งจะกระทบต่อความตื่นตัวทางการเมืองและเป็นการลดทอนบทบาทของเขาเหล่านี้อย่างปฏิเสธมิได้
จากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ที่ได้มอบบทเรียนให้เราเรียนรู้ว่า นักเรียน นักศึกษา เป็นพลังของความบริสุทธิ์ มีความเข้มแข็งมากพอที่จะสามารถยืนหยัดผลักดันการปฏิรูปประเทศได้อย่างแท้จริง แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พบว่าในปัจจุบันนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจการเมืองหรือเรื่องของสังคมมากนัก อาจด้วยเพราะการมี "สิ่งเร้า" และความบันเทิงที่หลากหลายให้สนใจ มากกว่าที่จะฝักใฝ่อุดมการณ์หรือการเมืองเช่นในอดีต จนเป็นเหตุให้ "อำนาจ" ตกอยู่ในมือของนักการเมืองที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน
แต่อย่างไรก็ตามหากสุดท้ายแล้วกำหนดการวันเลือกตั้งจะตรงกับวันสอบ GAT/PAT ของนักเรียนทั่วประเทศจริง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาถึงขนาดที่ต้องกลายเป็นทางเลือกชี้ชะตาของเยาวชนเนื่องจากโดยปกติแล้วมีการเปิดใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าได้ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในวันเลือกตั้งจริงทางรัฐบาลจะแจ้งให้ทราบก่อนอยู่แล้ว ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ "หากคนอยากใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าจะวันไหนก็ย่อมไม่ใช่อุปสรรค"