- 07 พ.ย. 2561
วันนี้ 7 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ซึ่งเป็นอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติให้ความเห็นชอบ โดยมีทั้งหมด 3 ฉบับดังนี้
วันนี้ 7 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ซึ่งเป็นอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติให้ความเห็นชอบ โดยมีทั้งหมด 3 ฉบับดังนี้
ประกาศฉบับที่ 1 เรื่องกำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีผลใช้บังคับวันที่ 3 ก.พ. 2562
ประกาศฉบับที่ 2 เรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ มีผลใช้บังคับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561
ประกาศฉบับที่ 3 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงคำหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือจูงใจให้บริโภคในฉลากของบุหรี่ซิกาแร็ต บุหรี่ซิการ์ ยาเส้น หรือยาเส้นปรุง มีผลใช้บังคับ 4 พฤษภาคม 2562
ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้ยังคงเนื้อหากฏหมายเดิม แต่ปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560
ทั้งนี้ สาระสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ คือ ประกาศการออกแบบเครื่องหมายปลอดบุหรี่ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนลักษณะและวิธีการออกแบบ เพราะหลังจากนี้จะไม่มีกำหนดตายตัวแต่จะเน้นว่าต้องมีโลโก้เส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า 10 ซม. และภายในสัญลักษณ์จะมีคำขวัญจังหวัดก็สามารถทำได้ แต่พื้นที่ห้ามสูบยังคงเหมือนเดิมคือพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน วัด ศาสนสถาน สวนสาธารณะ
ก่อนหน้านี้มีกรณีร้องเรียน ว่ามีกลุ่มที่เลี่ยงข้อกฏหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้พื้นที่สูบบุหรี่ เช่นห้ามสูบในโรงเรียนแต่ไปสูบบริเวณหน้าโรงเรียนแทน ผลที่ตามมาคือมีก้นกรองบุหรี่เกลื่อนกลาด กลายเป็นมลภาวะแต่ไม่สามารถจับปรับได้ เพราะกฏหมายไม่ครอบคลุม แต่ในอนุบัญญัตินี้จะมีการกำหนดระยะทาง 5 เมตรจากทางเข้าออกนั้นๆ ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งทางภาครัฐไม่ได้มีเจตนามุ่งจับปรับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการขอความร่วมมือเท่านั้น อย่างไรก็ตามแต่ละสถานที่ยังสามารถกำหนดให้มีเขตสูบบุหรี่ในพื้นที่นอกอาคารโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้
สำหรับสถานการณ์พฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ทั่วประเทศที่มีนัยสำคัญนั้น เผยว่า ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน อัตราการบริโภคยาสูบตามกลุ่มอายุ 15-18 ปีเท่ากับร้อยละ 7.8 โดยในภาพรวม อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นกลุ่มอายุ 19-24 ปี จากปี 2534-2560 อัตราการบริโภคยาสูบของประชากรเพศชายมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงน้อยกว่าเพศหญิง และเพศหญิงมีอัตราการบริโภคยาสูบต่ำสุดจากทุกปีที่ผ่านมา
โดยในปี 2560 อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษามีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันสูงสุด รองลงมาเป็นระดับมัธยมต้น ผู้ที่ไม่เคยเรียน และผู้อยู่อาศัยนอกเขตเทศบาลมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าในเขตเทศบาลในทุกรอบการสำรวจ จากผลสำรวจแบบแบ่งภาคนั้นพบว่า ภาคใต้ยังมีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงที่สุด รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง เหนือ และกรุงเทพมหานคร
เมื่อคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย ผู้สูบบุหรี่ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 546 บาท ส่วนการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ พบว่า ตลาดสดหรือตลาดนัดและร้านอาหาร/ภัตตาคาร/สถานที่ที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มเป็นสถานที่ที่มีการพบเห็น/ได้กลิ่น/พบเห็นก้นบุหรี่มากที่สุด