- 12 พ.ย. 2561
กลายเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติด กับความเคลื่อนไหวของบริษัททุนยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ก่อนหน้านี้มีกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยกลยุทธทางการตลาดตามแบบฉบับปลาใหญ่กินปลาเล็ก เริ่มตั้งแต่การดำเนินธุรกิจครบวงจรในร้านสะดวกซื้อ เช่น Delivery สินค้าใน 7-Eleven ,บริการซักอบรีด
กลายเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติด กับความเคลื่อนไหวของบริษัททุนยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ก่อนหน้านี้มีกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยกลยุทธทางการตลาดตามแบบฉบับปลาใหญ่กินปลาเล็ก เริ่มตั้งแต่การดำเนินธุรกิจครบวงจรในร้านสะดวกซื้อ เช่น Delivery สินค้าใน 7-Eleven ,บริการซักอบรีด ไปจนถึงธุรกิจขนส่งพัสดุที่ทำเอาผู้ประกอบการอื่นต้องร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน และล่าสุดกับแนวคิดเปิดขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมง
จนทางนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องออกมาชี้แจงว่า การดำเนินกิจการขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมงนั้น ไม่ผิดหลักกฏหมายแต่ขอให้คำนึงถึงจรรยาบรรณหวั่นกระทบกับคนหมู่มากและผู้ประกอบกิจการรายย่อย เช่นเดียวกับ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรียกร้องให้ทางซีพียุติแนวคิดดังกล่าว
เพราะในแง่ของจรรยาบรรณย่อมกระทบกับสังคมเป็นวงกว้างซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปว่าทาง CP จะเดินหน้าต่อหรือหันกลับมาตระหนักถึงการแข่งขันในสนามการค้าอย่างมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่ไม่เคยเหลียวแลแต่อย่างใด
และกับประเด็นต่อเนื่องที่สร้างแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมอีกครั้ง ว่าครั้งนี้มีเจตนาเพื่อหวังสัมปทานขับเคลื่อนผลประกอบการอย่างมีนัยยะ หรือเพื่อประโยชน์แห่งชาติ เมื่อนายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพันธมิตรที่ได้รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Consortium พร้อมที่จะเข้ายื่นซองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ในวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดยมีพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและนานาประเทศร่วมผนึกกำลัง โดยทาง CP จะนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เป็นระดับโลกมาร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทุกฝ่ายต่างตั้งใจและพร้อมมีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง
"รถไฟความเร็วสูงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะเป็นหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของไทย และหลังจากยื่นซองประมูลแล้วขอประกาศว่าจะเข้าสู่ช่วง Silence Period ตามมารยาทการแข่งขันและธรรมาภิบาลที่ดี" นายอติรุฒม์ ระบุ
สำหรับบริษัทที่เป็นกิจการร่วมค้า (Consortium) และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเครือซีพีล้วนเป็นบริษัทชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่มีประสบการณ์และความชำนาญในด้านต่างๆ ได้แก่
1. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ประเทศไทย)
2. China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
6. Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น)
7. CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
8. China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
9. Siemen(ประเทศเยอรมัน)
10 .Hyundai (ประเทศเกาหลี)
11. Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี)
12. CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
13.ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น)
ทั้งนี้มีการให้เหตุผลว่าเนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของไฮสปีดเทรนที่ประหนึ่งเป็นการยกระดับพัฒนาการขนส่งในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ จะเป็นการสนองต่อผลประโยชน์ชาติอย่างที่ลั่นวาจาไว้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาสนองต่อผลประกอบการและกำไรตามแบบฉบับของนักธุรกิจอย่างที่ผ่านมา