ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ "สองซ้าย" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ "คนหน้าใหม่" ในเส้นทางการเมือง

เสียงกลองรบลั่นดังระรัว เหล่าแม่ทัพพร้อมขุนศึกในคราบของนักการเมืองก็เร่งยาตราเดินหน้าเตรียมสัประยุทธ์ด้วยอาวุธที่เรียกว่า "อุดมการณ์" และ "แนวทางพรรค" แต่ส่วนใหญ่แล้วก็หาจะเป็นใครอื่นหากแต่เป็นคนคุ้นเคย ชนิดที่ว่า "อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่"

เสียงกลองรบลั่นดังระรัว เหล่าแม่ทัพพร้อมขุนศึกในคราบของนักการเมืองก็เร่งยาตราเดินหน้าเตรียมสัประยุทธ์ด้วยอาวุธที่เรียกว่า "อุดมการณ์" และ "แนวทางพรรค" แต่ส่วนใหญ่แล้วก็หาจะเป็นใครอื่นหากแต่เป็นคนคุ้นเคย ชนิดที่ว่า "อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" ที่หวังจะกลับมาเป็น "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เหตุฉะนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอันใด หากประชาชนตาดำๆ ผู้มีสิทธิ์เดินเข้าคูหาจะปรารถนา เสาะแสวงหาทางเลือกใหม่หลังจากเบื่อหน่ายจากวังวนเดิมๆมานับทศวรรษ 

 

 

ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ \"สองซ้าย\" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ \"คนหน้าใหม่\" ในเส้นทางการเมือง
 

 

การปรากฏตัวขึ้นของ "พรรคอนาคตใหม่" นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็น "คนหน้าใหม่" สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้มากพอควร จากภาพลักษณ์ที่ดูจะสอดรับกับนิยามของ "คนรุ่นใหม่" จนทำให้พรรคอื่นที่ไม่อยากน้อยหน้าต่างพากันเปิดตัวลูกหลานกันอย่างเอิกเกริก แต่ยังไม่น่าจับตาเทียบเท่า "แนวทางพรรค" ที่เพียงผิวเผินก็รับรู้โดยง่ายว่า เป็นการต่อต้านอำนาจและอิทธิพลที่เขาเชื่อว่าอยู่เหนือและครอบงำ "การเมือง" พร้อมกับอวดอ้างสรรพคุณทำนองว่า "พรรคอนาคตใหม่" จะนำพาประชาธิปไตยสากลกลับคืนสู่ประเทศ ประหนึ่งสำคัญตนว่าเป็น "อัศวินขี่ม้าขาว" อย่างไรอย่างนั้น

แนวทางพรรคของนายธนาธร ที่กร้าวว่าทำนองว่าจะแยก "กองทัพ" ออกจาก "การเมือง" รวมถึงการโพล่งประเด็นหมิ่นเหม่อย่างไม่ครั่นคร้าม เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรที่อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองอันรุนแรง เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2549 อันบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึง การปิดม่านแบบไม่สวยงามจากความเหิมเกริมท้าทายต่ออำนาจของสถาบันทรงอิทธิพลจึงเหมาะสมที่จะนำมาวิพากษ์เชิงเปรียบเทียบ ระหว่างสองนักการเมืองที่มี ความ "เหมือน" หากคงความ "ต่าง" ในบางประการ

ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ \"สองซ้าย\" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ \"คนหน้าใหม่\" ในเส้นทางการเมือง

 

การขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายทักษิณ นอกเหนือจาก "นโยบายประชานิยม" อีกปัจจัยหนึ่งคือการใช้ประโยชน์จากการสร้าง "เครือข่าย" ในกองทัพ นายทักษิณเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่กันคนละเหล่า แต่การผ่านทุกข์สุขร่วมกันในรั้วจักรดาวเป็นเวลาสองปีนั้น ก็เพียงพอที่จะก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในระดับหนึ่ง

จนมีเรื่องเล่าต่อมาว่า ช่วงเวลาที่นายทักษิณ ลาออกจากราชการตำรวจเพื่อเบนเข็มสู่เส้นทางการเมืองนั้น เป็นเวลาเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 ที่มีชั้นยศไล่เลี่ยกัน มีตำแหน่งเป็น ผู้บังคับกองพัน - ผู้บังคับการกรม การถือโอกาสนำปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา มาใช้เป็นประโยชน์ในรูปแบบการ "บอกต่อ" "แนะนำ" หรือ "ร้องขอ" ให้เข้าคูหากากบาทสนับสนุนนายทักษิณนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

การพยายามใช้อำนาจแทรกแซงกองทัพ นั้นมีให้เห็นมาโดยตลอดในรัฐบาลของนายทักษิณเริ่มตั้งแต่การสมนาคุณ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ของตนขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. แบบผ่าเหล่าผ่ากอผิดธรรมเนียมเพราะไม่ได้อยู่ในไลน์คอมแมนเดอร์ ทั้งยังสังกัดเหล่าทหารช่าง แต่นายทักษิณกลับโยกย้ายข้ามห้วยประหนึ่ง "ผีจับยัด" จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพขาดเอกภาพอย่างสิ้นเชิงถูกครอบงำโดยนักการเมืองแทบจะสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านี้นายทักษิณยังใช้อำนาจช่วยผลักดันให้ พล.อ.อนุพงษ์ ก้าวสู่ตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 ด้วยหวังจะให้เป็นปราการด่านสำคัญหากกองทัพคิดจะยึดอำนาจ 

แต่สุดท้ายก็เป็นข้อเท็จจริงที่เรียบง่าย เมื่อนายทักษิณมีพฤติการณ์ผิดทํานองคลองธรรม บริหารประเทศโดยมิชอบ ท้ายสุดกองทัพก็ต้องยื่นมือปิดฉากจนต้องหลังหักกลายเป็นคนระเห็จในที่สุด

 

 

ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ \"สองซ้าย\" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ \"คนหน้าใหม่\" ในเส้นทางการเมือง

จะเห็นได้ว่า นายทักษิณมีพฤติการณ์มุ่งหวังครอบงำกองทัพ ซึ่งอาจต่างจากนายธนาธร ที่ต้องการแยกการเมืองเป็นเอกเทศจากกองทัพ แต่ทั้งสองมีทรรศนะพ้องกันว่ากองทัพเป็นฝ่ายแทรกแซงการเมืองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากคำปราศรัยของนายธนาธรในต่างแดนที่ยกเรื่องจำนวนครั้งในรัฐประหารมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนเหตุผลเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่อาจลืมตระหนักไปว่า

ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีผู้อหังการ์มีขุมกำลังและเครือข่ายในกองทัพ เมื่อขาดความชอบธรรมทางการเมืองก็ต้องพ่ายไปโดยปริยาย นับประสาอันใดกับมือใหม่ที่ "กระตุกหนวดเสือ" ทั้งที่ไม่มีปืนในมือ และนายธนาธรเคยกล่าวทำนองว่า ตนนั้นไม่เห็นด้วยกับนายทักษิณ ที่ "ยอมแพ้" แก่คณะรัฐประหารเพราะถ้าเป็นตนจะขอสู้ให้ถึงที่สุด อันเป็นการสะท้อนถึงความไม่เดียงสาของนายธนาธรได้เป็นอย่างดี

 

 

ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ \"สองซ้าย\" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ \"คนหน้าใหม่\" ในเส้นทางการเมือง

 

จนถึงตอนนี้เป็นอันปรากฏชัดแล้วว่า "จุดยืน" ของนายธนาธรนั้นแทบไม่มีความซับซ้อนอันใดมากไปกว่าการแสดงออกถึงความเดียดฉันท์ต่อ กองทัพและการรัฐประหาร ผลพวงจากชุดความคิดนี้จึงกลายมาเป็นความหวาดหวั่นต่อการสืบทอดอำนาจของ "คสช." ที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงมโนคติของตัวเขาและพลพรรคเท่านั้น 

ดังนั้น คงไม่ต้องไปคาดหวังกับ "นโยบาย" ภายหลังการ "ประกาศปลดล็อค" เพราะคงจะไม่พ้นวังวนของความกลัวจนหมกมุ่นแก้ไขปรับเปลี่ยนการใช้อำนาจกองทัพ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นสรรหานโยบายตอบสนองประชาชนหรือพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนแนวทางพรรคอันเป็นวาจาที่เขาฟุ้งไว้แต่แรกก็ดูจะเป็นเพียงหลักการอัน "เลื่อนลอย" แบบ "ขายฝัน" ให้ชนชาว "ซ้ายจัด" ได้ศรัทธาและเลื่อมใสเท่านั้น หากเป็นดั่งเช่นว่านี้ แสงจากหิ่งห้อยในยามราตรีอาจริบหรี่น้อยกว่า แสงแห่งอนาคตของ "พรรคอนาคตใหม่" เสียอีก

 

 

ขอดเกล็ด ทรรศนะต่อกองทัพของ \"สองซ้าย\" ทักษิณ-ธนาธร กับอนาคตของ \"คนหน้าใหม่\" ในเส้นทางการเมือง