- 04 ธ.ค. 2561
เรียกว่าเอาจริงเอาจังกันสุดๆ สำหรับมาตรการกฎหมายเอาผิดผู้ที่กระทำการผิดวินัยจราจรที่ดูเหมือนว่าจะเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมหลัง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกมาเผยถึงความคืบหน้าแนวทางเชื่อมระบบอายัดการชำระภาษีประจำปี
เรียกว่าเอาจริงเอาจังกันสุดๆ สำหรับมาตรการกฎหมายเอาผิดผู้ที่กระทำการผิดวินัยจราจรที่ดูเหมือนว่าจะเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมหลัง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกมาเผยถึงความคืบหน้าแนวทางเชื่อมระบบอายัดการชำระภาษีประจำปี สำหรับผู้ที่ไม่ชำระค่าปรับจราจรหรือการเชื่อมข้อมูลใบสั่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้ากับระบบ ขบ.ว่า ได้พัฒนาระบบรองรับไว้เรียบร้อยแล้วและค่อนข้างมีความพร้อมในการใช้งาน จะเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปแนวทางการเชื่อมข้อมูลใบสั่งของสตช.กับระบบ ขบ. คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ช่วงไตรมาส 1 ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 62 เพื่อนำมาบังคับใช้กับผู้ที่ไม่มาชำระค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดถือเป็นการยกระดับวินัยจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับประชาชน
นอกจากนี้นายกมล ยังเผยต่อว่าตอนนี้ทางกรมการขนส่งทางบกได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหาข้อสรุปกรณีเรื่องการยื่นอุทธรณ์ใบสั่ง ของประชาชน ซึ่งพบว่ามีประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้ชำระค่าปรับโทษจราจรนั้นยังสามารถต่อภาษีได้แม้จะมีใบสั่งสะสมก็ตาม เบื้องต้นกรมการขนส่งทางบกจะออกป้ายวงกลมชั่วคราว 30 วันคล้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีให้กับผู้ที่มาขอต่อภาษีรถยนต์แต่หากครบกำหนด 1 เดือนแล้วยังไม่เคลียร์โทษทั้งหมดต้องมีความผิดในข้อหาไม่ต่อภาษีรถยนต์ การอุทธรณ์โทษเป็นหน้าที่ของ สตช.ที่ต้องตัดสินใจ อาทิ โดนใบสั่งในหลายพื้นที่ หรือการโดนใบสั่งจากป้ายสวมทะเบียนรถ เป็นต้น โดยประชาชนสามารถชำระค่าปรับได้ทั้งที่สถานีตำรวจและที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
อนึ่งความคืบหน้าเรื่องการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ… ซึ่งเป็นการควบรวมปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เข้าไว้ด้วยกันนั้น มีการแก้ไขโทษปรับเรื่องใบขับขี่จาก 5 หมื่นบาทให้ลดลงตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเตรียมบรรจุวาระเสนอที่ประชุม ครม. ควบคู่ไปกับการส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแปรญัตติเพื่อออกเป็นข้อบังคับต่อไป
ในตอนนี้ประเด็นหลักที่กรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งแก้ไข คือการขยายความผิดไปยังผู้ประกอบการผลิตรถยนต์การควบรวมทุกประเภทกฎหมายบังคับใช้ในกฎหมายให้อยู่ในกรอบเดียวกันรวมถึงการวางระบบเรื่องใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นไปในทางเดียวกันเพื่อมาตรฐานในการขับขี่และวินัยจราจรที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ยังจะมีการออกใบรับรองพิเศษแยกประเภทเพื่อใช้ควบคู่กับใบขับขี่ ถือเป็นโมเดลต้นแบบหนึ่งที่คล้ายของทางฝั่งประเทศยุโรปที่จะนำมาปรับใช้ ยกตัวอย่างเช่นทางรถบรรทุกน้ำมันหรือรถสาธารณะอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนกำหนดโทษของการไม่พกใบขับขี่จะมีการพิจารณาให้ปรับโทษลดจาก 5 หมื่นบาท ซึ่งต้องรอดูอีกทีว่าจะมีการปรับลดเท่าใด แต่ทั้งหมดนี้คาดว่าจะรอดูผลสรุปได้ในช่วงกลางปี 2562 หากคาดเคลื่อนไม่ทัน สนช. ชุดปัจจุบันต้องให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจต่อว่าจะมีการพิจารณาปรับลดค่าปรับโทษจาก 5 หมื่นบาท หรือไม่ ส่วนในตอนนี้หากมีการเชื่อมต่อระบบการต่อภาษีรถยนต์แล้วอาจส่งผลให้ประชาชนมาต่อภาษีลดลงเนื่องจากประชาชนยังไม่ต้องการมาชำระเป็นเงินค่าปรับก้อนเดียว เนื่องจากส่วนมากมีอาการกลัวเพราะติดปัญหาจำนวนใบสั่งจากหลายพื้นที่ร่วมด้วย โดยทุกวันนี้มีการต่อภาษีอยู่ที่วันละ 100,000 ราย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางนอกจากนี้หากผู้ขับขี่มีการหลบหนีไม่ต่อภาษีรถยนต์จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ในข้อหาใช้รถไม่เสียภาษีตามเวลาที่กำหนด