- 20 ธ.ค. 2561
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั้งพนักงานบริษัทรวมถึงลูกจ้างในองค์กรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สืบเนื่องจากกรณีก่อนหน้านายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุดตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ หลังจากได้มีการยกร่างกฎหมายดูแลลูกจ้างหลังเกษียณขึ้นมาหารือกัน โดยทางคณะกรรมการไตรภาคี
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั้งพนักงานบริษัทรวมถึงลูกจ้างในองค์กรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สืบเนื่องจากกรณีก่อนหน้านายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุดตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ หลังจากได้มีการยกร่างกฎหมายดูแลลูกจ้างหลังเกษียณขึ้นมาหารือกัน โดยทางคณะกรรมการไตรภาคี
ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายภาครัฐ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาคเอกชนภาครัฐ และประชาชนทั่วไป จำนวน 297 คน พร้อมกับเปิดให้แสดงความเห็นผ่านเว็บไชต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผลปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นไปในทางเดียวกันคือ "เห็นชอบ" กับหลักการที่จะเป็นการขยายความคุ้มครองลูกจ้างให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งผลสรุปของการพิจารณาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการนำความเห็นจากประชาชนมาพิจารณาร่วม โดยกฎหมายฉบับที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนี้จะเพิ่มเติมสิทธิให้แก่ลูกจ้างผู้ทำงาน ในพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันมีบังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี ขึ้นไปได้รับค่าชดเชย และจะได้รับเงินชดเชยอัตราเพิ่มเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน เป็นการปรับให้มีความเหมาะสมและเป็นหลักประกันชีวิตในกลุ่มผู้สูงวัยกรณีที่ต้องออกจากงาน โดยจะจ่ายให้ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ
ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ในการชดเชยเลิกจ้างโดยหลักมีดังนี้
1. ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
2. ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน
3. ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน
4. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน
5. ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน
6. ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน
นายวิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนนายจ้างมีภาระเพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งที่นายจ้างควรมอบแก่ลูกจ้าง ที่ทำงานมา 20 ปี เพราะถ้าไม่ใช่เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ คงไม่สามารถทำงานได้นานขนาดนั้น จึงสมควรได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม และในปี 2562 จากการสำรวจพบว่า จะมีลูกจ้างประมาณ 3 แสนคนที่ทำงานครบ 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของแรงงานในระบบ
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมไปจนถึงการเพิ่มสิทธิวันลาให้ลูกจ้างลากิจได้ปีละ 3 วันโดยได้รับค่าจ้าง เพราะก่อนหน้าตามกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดว่า นายจ้างจะจัดวันลากิจให้ลูกจ้างกี่วันหรือต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่ เพราะในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดความ เพียงแค่ว่า "ให้ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน"
รวมถึงอีกหนึ่งสิทธิที่เป็นการมอบความยุติธรรมแก่สตรีมีครรภ์ ด้วยการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 98 วัน เพื่อให้ครอบคลุมช่วงการตรวจครรภ์ จากเดิมที่มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาคลอด เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน นอกจากนี้ยังให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100
"กฎหมายใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ลูกจ้างกว่า 9.5 ล้านคน แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอน ยังต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ถึงจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน คาดว่าจะบังคับใช้ในเดือน ก.พ. ปีหน้า" นายวิวัฒน์ ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามต้องติดตามต่อไปว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ตามที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกมาเปิดเผยหรือไม่อย่างไร